ประกาศ บริษัท เอช แล็บ จำกัด
เรื่อง นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน
คณะกรรมการของ บริษัท เอช แล็บ จำกัด (“บริษัท”) ในฐานะนายจ้างที่รับผิดชอบบริหารจัดการการคุ้มครอง แรงงานและสวัสดิการ ให้แก่พนักงานของบริษัท มีจุดประสงค์ออกประกาศบริษัท เรื่องโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานฉบับนี้ เพื่อให้พนักงานทั้งหมด พึงรับทราบเกี่ยวกับสิทธิ และเงื่อนไขต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการเก็บ รวบรวม ใช้และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน ที่บริษัทดำเนินการ ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
ภายใต้ประกาศฉบับนี้ พนักงานหมายความรวมถึง (1) กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างที่อยู่ภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน (2) พนักงานฝึกงาน (3) พนักงานเกษียณที่เป็นที่ปรึกษาภายใต้สัญญาจ้างทำของของบริษัท (“พนักงาน”)
ข้อ 1 ชื่อประกาศและผลบังคับใช้
1.1 ประกาศฉบับนี้เรียกว่า “ประกาศบริษัท เรื่อง นโยบายข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน” และให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันที่บริษัท ประกาศเป็นต้นไป ทั้งนี้ ให้ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับกับพนักงานทั้งหมดของบริษัท
1.2 บริษัทอาจปรับปรุงประกาศฉบับนี้ ตามแต่ละระยะเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงาน หรือการให้การคุ้มครองแรงงานหรือสวัสดิการแก่พนักงาน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้ง ให้พนักงานทราบถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยประกาศนั้นจะถือว่ามีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อถูกประกาศใช้
ข้อ 2 นิยามข้อมูลส่วนบุคคล
“ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายถึง ข้อมูลที่ทําให้สามารถระบุตัวตนของพนักงานแต่ละบุคคลได้ไม่ว่าจะเป็นส่วนของข้อมูลที่บริษัท (ก) ได้รับโดยตรงจากพนักงานเอง (ข) ได้รับจากผู้ให้บริการคุ้มครอง และจัดสวัสดิการคุ้มครองแรงงานภายนอก ที่บริษัทว่าจ้างให้การคุ้มครองแรงงานแก่พนักงาน หรือ (ค) ได้รับจากการรวบรวม การประเมินผล และจัดทำข้อมูล ดังกล่าวขึ้นเพิ่มเติมโดยบริษัทเองในฐานะนายจ้างระหว่างการว่าจ้างงานภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนด ที่บริษัทกำหนด
ข้อ 3 ข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานที่บริษัทมีความจำเป็นในการประมวลผล ได้แก่
3.1 ข้อมูลที่บ่งชี้ตัวตนพนักงานโดยตรง อาทิ ชื่อ นามสกุล เลขที่และสำเนาบัตรประจำประชาชน อายุ สัญชาติ วันเกิด รวมถึง ประวัติแสดงคุณสมบัติอื่นที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ซึ่งได้ให้แก่บริษัทตามแบบฟอร์มการรับสมัครงาน และสัญญาจ้างแรงงาน
3.2 ข้อมูลการติดต่อของพนักงาน อาทิ ที่อยู่ตามบัตรประชาชน ที่อยู่ปัจจุบัน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล หรือช่องทางสื่อสารอื่น ๆ
3.3 ข้อมูลการชำระเงินที่บริษัทดำเนินการให้แก่พนักงาน อาทิเช่น บัญชีธนาคาร ประวัติการเบิกจ่ายเงินต่าง ๆ รวมถึงเงินเดือน เลขที่ประกันสังคม รายละเอียดประกันสวัสดิการต่าง ๆ รวมถึงรายละเอียดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนอื่น ๆ และรายละเอียดการใช้สิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงานดังกล่าว
3.4 ข้อมูลประวัติการทำงานและการฝึกอบรมต่าง ๆ ของพนักงาน เช่น ประวัติการเข้าทำงาน ประวัติการลา ซึ่งได้รับการบันทึกโดยระบบบันทึกการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ และจากแบบประเมินความสามารถและการวัดผลของบริษัท
3.5 ในกรณีได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากพนักงาน อาจรวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหวอื่น ๆ เช่น ข้อมูลชีวภาพ ได้แก่ ลายนิ้วมือ ภาพถ่ายจำลองใบหน้า ข้อมูลสุขภาพ (ซึ่งรวมถึงข้อมูลการตรวจสุขภาพประจำปี ใบรับรองแพทย์ หรือรายละเอียดการเบิกค่ารักษาพยาบาล การสุ่มตรวจสารเสพติด การรับการรักษาและวัคซีน โรคประจำตัวต่าง ๆ) เป็นต้น
3.6 ข้อมูลภาพถ่ายทั้งที่เป็นภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวของพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่บริษัทจัดขึ้นทั้งที่เป็นกิจกรรม ส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในองค์กร และกิจกรรมการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก
3.7 ข้อมูลชื่อนามสกุล ลายเซ็น และรายการดำเนินการอื่น ๆ ที่บริษัทอาจจัดทำ รวบรวม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลงนามและ การจัดทำเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในทางการที่จ้างของบริษัท
3.8 ข้อมูลส่วนบุคคลอื่นที่พนักงานอาจให้แก่บริษัทเพื่อการประเมิน วิเคราะห์ บริหารจัดการ และจัดหาสวัสดิการเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่บริษัทอาจจัดให้แก่พนักงาน เช่น แบบฟอร์มการแสดงความคิดเห็น แบบฟอร์มการเข้าร่วมกิจกรรม เป็นต้น
ข้อ 4 ข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับพนักงานที่บริษัทมีความจำเป็นในการประมวลผล
4.1 ในกรณีที่บริษัทมีการจัดสวัสดิการ ให้แก่สมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องของพนักงาน ทั้งในลักษณะของสวัสดิการที่ให้แก่ครอบครัวโดยตรง และ/หรือการให้ประโยชน์ในฐานะผู้รับผลประโยชน์จากพนักงาน เพื่อการดำเนินการให้สวัสดิการดังกล่าว บริษัทอาจจำเป็นต้องเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ของสมาชิกครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องของพนักงานดังกล่าว ซึ่งได้แก่แต่ไม่จำกัดเพียง ข้อมูลชื่อนามสกุล ข้อมูลการติดต่อ และเอกสารแสดงตนของบุคคลดังกล่าว รวมถึงกรณีได้รับความยินยอม และจำเป็นสำหรับการให้สวัสดิการ ที่เกี่ยวข้อง อาจรวมถึงข้อมูลสุขภาพของบุคคลนั้น
4.2 ในกรณีที่พนักงานเป็นผู้ให้ข้อมูลของบุคคลดังกล่าว บริษัทจะถือว่าพนักงานให้การรับประกันว่าพนักงานมีสิทธิ อันชอบด้วยกฎหมายในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลดังกล่าว และได้แจ้งความจำเป็นในการประมวลผล ข้อมูลส่วนบุคคล และขอความยินยอมจากสมาชิกดังกล่าวครบถ้วนและถูกต้องแล้ว
ข้อ 5 วัตถุประสงค์การประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
ภายใต้กรอบ (1) การปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อการคุ้มครองแรงงาน และอื่น ๆ (2) การปฏิบัติหน้าที่ของนายจ้าง ภายใต้สัญญาจ้างแรงงานรวมถึง (3) การคุ้มครองและปกป้องสิทธิประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของบริษัท บริษัทมีวัตถุประสงค์หลักในการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานที่ระบุไว้ ดังนี้
5.1 เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัทภายใต้กฎหมาย รวมทั้งกฏ แนวปฏิบัติ หรือคำสั่ง คำแนะนำ หนังสือบอกกล่าว ซึ่งออกโดยหน่วยงานที่กํากับดูแล บริษัทจำเป็นต้องประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน เพื่อจุดประสงค์เฉพาะ ได้แก่ การอํานวยความสะดวก และ/หรือควบคุมดูแลการคำนวณชำระภาษีอากร และการหักภาษี ณ ที่จ่าย การจัดทำทะเบียนพนักงาน การประกันสังคม การจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงาน การคุ้มครองและดูแลอาชีวอนามัยแรงงาน และอาจรวมถึงการตรวจคนเข้าเมือง และ/หรือการได้รับอนุญาตให้ทํางาน /ใบอนุญาตทํางาน (กรณีพนักงานต่างประเทศ) ตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้
5.2 เพื่อการปฏิบัติสิทธิและหน้าที่ของบริษัทในฐานะนายจ้างภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งอาจรวมถึง การควบคุมดูแล บริหารจัดการความสัมพันธ์การจ้างงานระหว่างพนักงานกับบริษัท ซึ่งอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการประมวลผล ข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้ บริษัทมีความจำเป็นต้องประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดของพนักงาน
1. การบริหารจัดการดูแลการจ่ายเงินเดือน การประเมินผลการปฏิบัติงาน การตรวจสอบดูแล และ/หรือการจัดการเกี่ยวกับ ผลการปฏิบัติงานของพนักงาน การตั้งเป้าหมายการปฏิบัติงาน การจัดการและ/หรือ การบันทึกความสําเร็จหรือ ความก้าวหน้าของพนักงาน
2. การพิจารณาความเหมาะสมในการเลื่อนตําแหน่งของพนักงาน การให้รางวัลหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ บริษัทอาจจัดให้รวมถึงการพิจารณาออกแบบโปรแกรมการฝึกอบรม (ไม่ว่าจัดขึ้นโดยบริษัทหรือบุคคลอื่น) หรือใช้ในการบังคับมาตรการลงโทษต่อพนักงานที่อาจปฏิบัติไม่สอดคล้อง หรือละเมิดหน้าที่การจ้างงาน ที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานหรือประกาศแรงงานอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิของบริษัทในฐานะนายจ้าง ภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน
3. การจัดการและ/หรือการบริหารสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในการจ้างงาน การจัดการเกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิ และการยืนยันตัวตนเพื่อให้สวัสดิการ ภายใต้สัญญาจ้างแรงงานแก่พนักงานในส่วนต่าง ๆ เช่น สิทธิประกันภัย และ/หรือข้อเรียกค่าสินไหม การจัดการเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ (ไม่ว่าสําหรับตัวพนักงานเอง หรือสมาชิกในครอบครัว หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องของพนักงานตามเงื่อนไขที่บริษัทจัดหาไว้ให้)
4. การติดต่อสื่อสาร ประสานงานกับพนักงานเพื่อวัตถุประสงค์ในการควบคุมดูแลและ/หรือการบริหาร จัดการความสัมพันธ์ การจ้างงานระหว่างพนักงานกับบริษัทหรือการติดต่อในกรณีฉุกเฉิน
5.3 เพื่อการบริหารจัดการความเสี่ยงภายในองค์กร การใช้สิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของบริษัท รวมถึงการปกป้อง ที่บริษัท อาจจัดให้แก่พนักงาน ซึ่งอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน เพื่อวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. การทํากิจกรรมการวิจัย วิเคราะห์และพัฒนา (รวมถึงแต่ไม่จํากัดเฉพาะการสํารวจทําแบบสอบถามและ/ หรือการรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สวัสดิการ สิทธิประโยชน์ และสิ่งอํานวยความสะดวก ต่าง ๆ รวมถึงการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท รวมถึงเพื่อส่งเสริม ความสัมพันธ์การจ้างงานระหว่างพนักงานกับบริษัท หรือเพื่อสิทธิประโยชน์อื่นของพนักงาน
2. การจัดการกระบวนการทางกฎหมาย การดําเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิตามกฎหมาย และการเยียวยา ความเสียหาย การต่อสู้คดีหรือข้อเรียกร้องทางศาล และการบริหารจัดการข้อร้องเรียน หรือข้อเรียกร้องใด ๆ
3. การเก็บบันทึกและจัดทําสถิติ การวิจัยภายใน และ/หรือการรายงานตามกฎหมาย และ/หรือการเก็บบันทึกข้อมูล ตามข้อกําหนดต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรายงานของบริษัทและ/หรือบริษัทในเครือ
4. การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ขององค์กร โดยอาจมีการเปิดเผยและนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน ซึ่งอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงภาพถ่าย หรือข้อมูลความเชี่ยวชาญคุณสมบัติของพนักงาน โดยข้อมูลสื่อ ประชาสัมพันธ์ ดังกล่าวนั้นจะถูกนำมาใช้ เปิดเผย ประมวลผล และเผยแพร่ในจดหมาย ข่าวหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด ซึ่งทำขึ้นหรือออกเผยแพร่ โดยบริษัททั้งในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์และในรูปแบบกระดาษ
5. การบริหารจัดการบริหารความเสี่ยง การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์การควบคุมและกำกับดูแล การทำงานภายในของบริษัทผ่านกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงการตรวจสอบประวัติการทำงานของพนักงานดังกล่าว ในอนาคตที่พนักงานดังกล่าวอาจกลับมาสมัครงานที่บริษัทอีกครั้ง
6. การเก็บ ควบคุม สํารอง และ/หรือ กู้คืนจากความเสียหายของข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน
5.4 กรณีที่พนักงานให้ความยินยอมเป็นการเฉพาะ บริษัทอาจดำเนินการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน ตามวัตถุประสงค์เฉพาะที่พนักงานให้ความยินยอมไว้
ข้อ 6 ระยะเวลาการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
6.1 บริษัทมีความจำเป็น ในการจัดเก็บ และรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานตลอดระยะเวลาสัญญาจ้างแรงงานของแต่ละคน และตลอดระยะเวลาที่จำเป็นซึ่งบริษัทมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาตามกรอบระยะเวลาในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
6.2 บริษัทสงวนสิทธิ์ที่จะเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมตามกำหนดอายุความ 10 ปี หลังจาก หมดหน้าที่ภายใต้สัญญาจ้างแรงงาน เพื่อประโยชน์ในการปกป้องและการต่อสู้เรียกร้องสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายระหว่าง บริษัทและพนักงาน ภายใต้สัญญาจ้างแรงงานดังกล่าว และกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ บริษัทรับประกันว่าการเก็บรักษา ข้อมูลดังกล่าวจะไม่กระทบสิทธิของเจ้าของข้อมูลมากเกินสมควร และให้สิทธิเจ้าของข้อมูลในการคัดค้านการประมวลผล ข้อมูลได้ตามกฎหมาย
6.3 กรณีการใช้ภาพสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ รวมถึง การจัดทำสถิติ และรายงานเอกสารต่าง ๆ ที่พนักงานได้ดำเนินการในทางการที่จ้างของบริษัท บริษัทสงวนสิทธิ์ในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานดังกล่าวไว้ตลอดระยะเวลา ที่บริษัทอาจมีความจำเป็นทางด้านธุรกิจในการดำเนินการดังกล่าว
ข้อ 7 การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองแรงงานและการจัดสวัสดิการแรงงาน ที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานและภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องบริษัท อาจมีความจําเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน ต่อบุคคลภายนอกเพื่อวัตถุประสงค์
อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่ได้กําหนดไว้ ซึ่งบุคคลดังกล่าวที่จะได้รับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้แก่
7.1 ลูกค้า คู่ค้าของบริษัท บริษัทในเครือ รวมถึงผู้ให้บริการภายนอกของบริษัท ซึ่งเป็นผู้ดําเนินการเกี่ยวกับ การให้สวัสดิการ ต่างๆ แก่พนักงานแทนและเพื่อบริษัท ได้แก่แต่ไม่จำกัดเพียง ผู้ให้บริการประกันกลุ่ม ผู้ให้บริการบริหารจัดการด้าน ทรัพยากรมนุษย์ (HRM) หรือให้บริการพัฒนาบุคลากร (HRD) หรือผู้ให้บริการสนับสนุนด้านอื่น ๆ ผู้ให้บริการจัดทำและ ประมวลผลค่าแรงค่าจ้างและจัดหาสวัสดิการ บริษัทประกันภัย บริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น รวมถึง ที่ปรึกษาหรือผู้ให้บริการของบริษัท ผู้ดําเนินกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งนี้การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว ดำเนินการเฉพาะภายใต้ขอบเขตที่จำเป็นภายใต้เอกสารสัญญาการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่จะมีการลงนามระหว่าง บริษัทและบุคคลที่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว
7.2 บุคคลภายนอกใด ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการ การขาย การร่วมทุน การโอนสิทธิ์ การโอน หรือการจําหน่ายโดยลักษณะอื่นใดซึ่งธุรกิจ ทรัพย์สิน หรือหุ้นของบริษัททั้งหมดหรือบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นเพียงการเสนอหรือการดําเนินการจริงก็ตาม (รวมถึงการดําเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายหรือ กระบวนการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน)ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวจะดำเนินการเฉพาะขอบเขตที่จำเป็น ภายใต้เอกสารสัญญาการประมวลผลข้อมูลส่วนบุ คคล ที่จะมีการลงนามระหว่างบริษัทและองค์กรภายนอกดังกล่าว
7.3 หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานกํากับดูแล รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมจัดหางาน ศาลและองค์คณะในการระงับข้อพิพาทอื่นใด หรือหน่วยงานราชการอื่นที่บริษัทอาจอยู่ภายใต้บังคับของคำสั่ง กฎหมาย หรือคำพิพากษา
7.4 ในกรณีได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้งจากพนักงานบริษัทอาจเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่บุคคลอื่นตามที่ พนักงานระบุและแจ้งให้บริษัททราบ
ข้อ 8 มาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล
8.1 บริษัทรับประกันจัดให้มีมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเข้าถึงการใช้ การเปลี่ยนแปลงการแก้ไข หรือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน โดยปราศจากอำนาจ หรือโดยมิชอบ ทั้งนี้ บริษัทจะจัดให้มีการทบทวนมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยดังกล่าว อย่างสม่ำเสมอเป็นปกติ เพื่อความเหมาะสมตามมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
8.2 ในกรณีที่พนักงานคนใดมีสิทธิเข้าถึงหรือดำเนินการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลส่วนใด พนักงานดังกล่าวยอมรับและ รับทราบหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลดังกล่าวเช่นเดียวกันโดยรับประกันชดเชยและชดใช้ให้แก่บริษัทกรณีที่เกิดความเสียหายใด แก่บริษัทอันเกิดจากความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานดังกล่าว
ข้อ 9 สิทธิของพนักงานในฐานะเจ้าของข้อมูล
บริษัทประกาศยืนยันสิทธิตามกฎหมายของพนักงาน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานดังกล่าว ซึ่งได้แก่
9.1 สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิในการขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นปัจจุบันและถูกต้อง
9.2 สิทธิขอรับข้อมูลส่วนบุคคล ในกรณีที่บริษัททำให้ข้อมูลส่วนบุคคลนั้นอยู่ในรูปแบบที่สามารถอ่านหรือใช้งานโดยทั่วไป ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติรวมถึงสิทธิขอให้ส่งหรือโอนข้อมูลรูปแบบดังกล่าวไปยังผู้ควบคุม ข้อมูลส่วนบุคคลอื่น
9.3 สิทธิคัดค้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล
9.4 สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้เมื่อข้อมูลนั้นหมดความจำเป็น หรือเมื่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลถอนความยินยอม
9.5 สิทธิในการขอให้ระงับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ ในกรณีเมื่อเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องลบหรือเมื่อข้อมูลดังกล่าวหมด ความจำเป็น
9.6 สิทธิถอนความยินยอมในการประมวลผลข้อมูลที่พนักงานเคยให้ไว้
บริษัทจะพิจารณา และแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอใช้สิทธิของพนักงานให้พนักงานทราบภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้พนักงานสามารถติดต่อมายังบริษัทได้ตามรายละเอียดการติดต่อที่บริษัทได้กำหนดไว้ที่: info@hlabconsulting.com