top of page
naradaboo

RR 20 20 20 ที่วัดไว้ ถูกจริงไหม?



 

ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลที่ไหนเป็นแบบนี้บ้าง แต่เชื่อว่าคงเป็นไม่งั้นคงไม่เข้ามาอ่านกัน

คือพยาบาลไม่วัด RR จริง แล้วใส่เลข 20 ลงไปเวลาวัด V/S ซึ่งค่อนข้างอันตรายมากในการประเมินคนไข้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมคิดว่า RR เป็นตัวแทนของอาการหนักของคนไข้ได้ดีที่สุดเลย คือ BP อาจจะ drop HR อาจจะเร็ว O2sat อาจจะต่ำ แต่ถ้าคนไข้หายใจชิวๆ คุยได้ มักจะไม่ค่อยเป็นไรหนัก แต่ถ้า RR ผิดปกติแล้วล่ะก็ ต่อให้ O2sat ปกติ Bp ดีอยู่ มักจะแปลว่า เริ่มไม่ค่อยไหวแล้ว ถ้าไม่ได้ทำอะไร อีกไม่นานอาจจะได้ใส่ tube CPR


เรื่องหนึ่งที่อาจทำให้คนไม่ค่อยชอบวัด RR กันคือ มันเป็นค่า V/S ตัวเดียวที่วัดยากที่สุด ถึงแม้ด้วยตัวมันเองจะไม่มีอะไรคือ วัดว่าคนไข้หายใจเข้าออกกี่ครั้งในหนึ่งนาที(เข้าออกนับเป็นหนึ่ง) แต่ด้วยการที่มันไม่มีเครื่องมือวัดเหมือน V/S ตัวอื่นๆ ที่แค่เสียบเครื่องก็ใช้ได้เลย ทำให้เราต้องอาศัยนาฬิกาจับเท่านั้น ยิ่งถ้าเป็นเด็กจะยิ่งยากขึ้นอีก เพราะขยับตัวยุกยิกตลอดเวลา แถมบางทีร้องไห้ด้วย หากจะวัดจริงๆ หลายๆคนก็ต้องรอให้นอนหลับก่อน



ด้วยปัญหานี้ ก็เลยมีคนพยายามสร้างแอพมือถือมาเพื่อแก้ปัญหานี้ครับ วันนี้เลยมารีวิวว่าตัวไหนดี ไม่ดียังไงบ้าง
 

Breath Counter (Android,iOS)


แอพตัวนี้จะจับ movement ของมือถือในการวัด RR ครับ คือให้เอามือถือเราวางไว้ที่หน้าท้อง แล้วก็หายใจตามสบาย พอหายใจเข้าออก พุงก็จะกระเพื่อม มือถือมันก็จะขยับขึ้นๆลงๆ แล้วก็นับจำนวนครั้งให้ พอครบหนึ่งนาที มันก็จะรายงานผลว่าหายใจกี่ครั้งต่อนาที


ข้อดี : ไว้สำหรับให้คนไข้วัดตัวเอง เช่น แบบอยู่บ้าน Home Isolation ให้คนไข้วัด RR มาเองแบบนี้ ใช้แอพนี้ก็เวิร์คดี เพราะถ้าให้คนไข้วัดเอง มันจะกลายเป็นตั้งใจหายใจ ทำให้ RR ค่ามันเปลี่ยนไป


ข้อเสีย : ไม่เหมาะกับ setting โรงพยาบาล คือจะเอามือถือไปวางไว้ที่ท้องคนไข้มันก็แปลกๆ แถมดูไม่ค่อยถูกหลัก IC ยังไงไม่รู้ นอกจากนั้นยังใช้เวลานานอีก คือถ้าคนไข้พูด หรือมือถือสั่น ค่ามันก็ผิดปกติได้เลย


สรุป แอพนี้ไม่เหมาะใช้กับ รพ. (พยาบาลวัดคนไข้) แต่เหมาะกับเคสแบบ Home Isolation ที่มีเวลาเหลือๆให้คนไข้วัดตัวเองเองมากกว่า


 

Respi-Rate(Android,iOS)


แอพตัวนี้จะให้เรากดนับการหายใจด้วยตัวเราเอง ก็คือพอคนไข้หายใจเข้าก็กดหนึ่งครั้ง กดไปเรื่อยๆ จนครบเวลาที่แอพกำหนด (ประมาณ 20 วินาที) จากนั้นแอพมันจะคำนวณให้ว่าคนไข้หายใจกี่ครั้งต่อนาที


ข้อดี : ไม่มีเสียงรบกวนตอนกด (คืออีกแอพที่คล้ายๆ กัน จะมีเสียงตอนกดด้วย เราต้องปิดเสียง)


ข้อเสีย : ถ้าคนไข้หายใจแบบ irrigular (เช่น พูด ไอ จาม) มันก็จะยังคำนวณให้อยู่ดีว่า หายใจกี่ครั้ง ซึ่งตามหลักการแล้วถ้าคนไข้หายใจ irriegular เราควรนับใหม่ ทำให้อาจจะนับผิดได้ และสำหรับคนที่หายใจแบบ regular ผมว่าแอพต่อไปที่จะแนะนำใช้เวลาน้อยกว่า


สรุป สู้อีกตัวไม่ได้อ่ะ

 

Rrate(Android,iOS)


แอพตัวนี้คล้ายๆแอพก่อนหน้านี้ คือพอคนไข้หายใจเข้าก็กดหนึ่งครั้ง กดไปเรื่อยๆจนแอพจะเด้งออกมาเองว่า คนไข้หายใจเท่าไหร่


ข้อดี : แอพนี้ถูกพัฒนาและใช้โดยโรงพยาบาล British Columbia Children Hospital ของแคนาดา ก็คือถ้าเราใช้ก็วางใจได้ว่าเราใช้มาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลแคนาดา(นะโว้ย) ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ มันวัดได้เร็วมาก คือ ถ้าคนไข้หายใจแบบ regular จะใช้เวลาแค่ 10 วินาทีก็ออกมาแล้ว ข้อดีสุดๆของมันก็คือ ถ้าคนไข้หายใจแบบ irregular มันจะให้เรากดนับต่อไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ภาวะ regular ถึงค่อยนับให้ แต่จนแล้วจนรอด ถ้ายังไงคนไข้ก็หายใจแบบ irregular ตลอด(หรือมือเรากด irregular) มันก็จะเด้งว่า วัดไม่ได้น๊ะจ๊ะ พร้อมโชว์ให้ดูด้วยว่า ที่กดมามัน irregular นะ ให้ไปวัดใหม่ ซึ่งถ้าเราวัดได้สำเร็จ มันจะจำลองการหายใจของคนไข้ให้ดูด้วยว่า ตรงกับที่คนไข้เป็นมั้ย


ข้อเสีย : เป็นข้อเสียอย่างเดียวของแอพเลย คือมันร้องตอนที่เรากดวัด ซึ่งจริงๆแล้วตอนเราวัด เราอยากให้มันเงียบ เพราะมันจะทำให้คนไข้เพ่งความสนใจว่า เอ้ย ทำอะไรอยู่ จนอาจจะเปลี่ยนจังหวะการหายใจเขาได้ แต่ก็แก้ได้โดยการปิดเสียงมือถือไว้ชั่วคราว


สรุป ผมแนะนำแอพ Rrate นี่แหละครับ ถึงแม้แอพเขาจะทำมาสำหรับคนไข้เด็ก แต่จริงๆคนไข้ผู้ใหญ่ก็ใช้ได้นะ เหมาะกับเคส ward กับ ER มากๆเลย

ไปโหลดซะ (ไม่ได้ค่าโฆษณา)






ดู 639 ครั้ง

Comments


bottom of page