เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อวงการสาธารณสุขเหตุหนึ่งคือ ประเทศไทยตกลงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศที่ใช้ “SNOMED CT”
ตามจริงเหตุการณ์นี้ ใครที่รู้จัก SNOMED CT ย่อมถือว่าสะเทือนวงการ แต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก ข่าวดังกล่าวจึงกลายเป็นเพียงข่าวเล็กๆ ที่ผ่านเลยไป
แม้สิ่งนี้จะเกี่ยวพันอย่างมากกับชีวิตการทำงานของชาวสาธาฯเราในอนาคตอันใกล้ก็ตามที
วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก SNOMED CT กัน
ใครทำงานในวงการสาธาฯ ย่อมต้องรู้จักระบบ ICD-10 (และ ICD-9 สำหรับหัตถการ) ซึ่งเกิดจากหลายสิบปีก่อน ที่วงการสาธารณสุขทั้งของไทยและของโลก เริ่มให้ความสำคัญกับการเก็บสถิติ บริหารจัดการข้อมูล ที่นำไปสู่การพัฒนาด้วยชุดข้อมูลที่สะท้อนภาพจริงเป็นสำคัญ ไม่ว่าพวกเราจะชอบหรือรำคาญการลงรหัส ICD ก็ตาม แต่สิ่งนี้ได้กลายเป็นรากฐานของการพัฒนาสาธารณสุขตลอดหลายยุคสมัย
หากแต่ระบบ ICD มีข้อจำกัดบางอย่าง
ด้วยตัวระบบออกแบบเพียงให้แปลความ จากภาษาการแพทย์บนกระดาษ สู่รหัสตัวเลขที่ง่ายต่อการจัดการทางสถิติ ระบบดังกล่าวนี้ เหมาะกับการเก็บสถิติแบบตรงไปตรงมาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น หากอยากรู้ว่ารพ.เราเจอปอดอักเสบกี่เคสต่อเดือนกัน ก็กลับไปค้นหาทุกรหัส ICD-10 ที่เกี่ยวข้องกับ pneumonia ในเดือนนั้นออกมา แต่หากเราอยากทราบว่า pneumonia ที่ว่า ผู้ป่วยมาด้วยอาการอะไร และมาที่กี่วัน ระบบ ICD ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับชุดข้อมูลก่อนหน้านั้น และไม่ซับซ้อนพอจะเป็นรากฐานการของข้อมูลที่ใหญ่และละเอียดกว่าวินิจฉัยได้
จุดกำเนิดของ SNOMED-CT
ในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลระดับ Big Data ระบบ ICD จึงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป วงการแพทย์ต้องการระบบใหม่ที่เป็นรากฐานการเก็บข้อมูลที่ซับซ้อนกว่านั้น ใหญ่โตกว่านั้น และนำไปสู่การพัฒนาที่ทรงคุณค่ากว่านั้นได้
ปี 2003 คณะแพทย์จากอังกฤษและอเมริกา ต่างพบปัญหาและคิดในเรื่องเดียวกัน พวกเขาจึงช่วยกันคิดค้นและจัดระบบ “อภิธานศัพท์” ช่วยจัดกลุ่มข้อมูลที่เกี่ยวพันกับวงการแพทย์ “ตั้งแต่ต้นจนจบ” ออกมา
เล่าแบบนี้อาจเข้าใจยาก แต่หากมองเป็นหนังสักเรื่อง ระบบ ICD อาจเล่าเฉพาะตอนจบให้เราฟัง แต่ระบบใหม่ที่ว่านั้น เปิดโอกาสให้เราฟังทุกจังหวะที่สำคัญของเรื่อง
และนั่นคือที่มาของสิ่งที่เรียกว่า SNOMED-CT หรือ “Systemized Nomenclature of Medicine – Clinical Terms”
SNOMED-CT คืออะไร?
SNOMED-CT เป็นระบบจัดการคำศัพท์ทางการแพทย์ที่สำคัญต่อการลงข้อมูลในทุกจุดของการรักษาพยาบาล เราอาจเป็นแพทย์ที่ลงตรวจร่างกายต้นทาง อาจเป็นพยาบาลที่จัดกลุ่มปัญหาการพยาบาลและวางแผนเฝ้าระวัง หรืออาจเป็นเภสัชกรที่ลงข้อมูลยาคงคลัง หรืออาจเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผู้ป่วยติดเตียงมาดูแลที่ปลายทาง
ที่ผ่านมาชาวสาธาฯ แม้พูดถึงคนไข้คนเดียวกัน แต่มีมุมมองและคำศัพท์ที่ใช้สื่อสารแตกต่างกันตามบริบทรอบตัว
ระบบศัพท์ SNOMED-CT จึงถูกออกแบบให้คล้อยตามการทำงานของเรา
อันที่จริงแล้ว ระบบนี้มีรายละเอียดมาก แต่เล่าอย่างคร่าวๆให้เข้าใจง่ายๆ คือโรคหนึ่งๆนั้น (หรืออาจเป็นภาวะ หรืออะไรที่เป็นคำสำคัญ) จะเรียกว่า “Concept Code”
Concept Code หนึ่งๆ จะมีคำอธิบาย (Descriptions) กำหนดไว้ให้คนทั้งโลกเข้าใจตรงกัน ว่า concept code นี้นั้นหมายถึงโรคใด โดยจะระบุโรคที่เป็นชื่อเต็มทางการแพทย์ ซึ่งเป็นชื่อเต็มตามที่ควรจะเป็นจริงๆเอาไว้ และรวบรวมคำพ้องความหมาย ที่ชาวสาธาฯจากที่ต่างๆในโลกใช้เรียกลำลองกัน ตบท้ายด้วย “รหัสตัวเลข” (ซึ่งก็คือโค้ดของคอนเซปต์นั้น) สำหรับให้ระบบคอมพิวเตอร์อ่าน และจัดการด้วยภาษาโปรแกรมมิ่งต่างๆ เปิดทางให้พวกเราผู้ใช้งาน สามารถจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนได้
ไม่เพียงเท่านั้น แต่ละ concept code จะถูกนำมาเรียงและโยงความสัมพันธ์กัน concept code นี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของ concept code นั้น และอาจมีลูกเป็นอีก concept code หนึ่งด้วยได้
ตัวอย่างเช่น concept code 281794004
-มีชื่อจริงว่า viral upper respiratory tract infection (การติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจส่วนต้น)
-มีชื่อเล่นว่า URI
-เป็นลูกของ viral respiratory infection (การติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจ) และ upper respiratory infection (การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น)
-มีลูกเป็น common cold (หวัด), viral pharyngitis (คออักเสบจากไวรัส), viral sinusitis (ไซนัสอักเสบจากไวรัส) เป็นต้น
แน่นอนว่าระบบศัพท์พวกนี้ อ่านๆไปอาจชวนหัวหมุนได้ แต่ผู้ใช้หน้างานอย่างเราไม่จำเป็นต้องจำได้ ขอเพียงเข้าใจ ว่ารากฐานคำศัพท์พวกนี้ถูกจัดเก็บไว้เป็นกลุ่มก้อนเป็นชั้นๆ กล่าวคือเมื่อเราลงข้อมูลหน้างาน เนื้อหาที่เราบันทึกนั้น ก็จะถูกเก็บอย่างเป็นระบบระเบียบ ไล่เรียงคล้อยตาม ง่ายต่อการจัดเก็บและดึงมาใช้นั่นเอง
คุณค่าของ SNOMED-CT ต่อสาธารณสุข
แต่การจัดเก็บเป็นระบบระเบียบที่ว่า มีคุณค่าต่อเราอย่างไร
ที่ผ่านมาสาธารณสุขเรานิยมใช้ “ข้อมูล” กันมาก และ “ขอข้อมูล” ทุกโอกาสที่ทำได้ แต่การจัดเก็บกลับมีปัญหา หลายหน่วยงานยังเก็บข้อมูลด้วยมือ เบิกชาร์ตรีวิวเคสนับจำนวน ด้วยเพราะไม่มีรูปแบบการเก็บข้อมูล ที่เอื้อต่อการดึงมาใช้
เรื่องราวเหล่านี้กลับกลายเป็นปัญหาหนักใจ กลายเป็นภาระกดทับคนหน้างาน
เมื่อถอยออกมามอง เราจะพบว่าโลกเปลี่ยนไปมาก วัฒนธรรมการใช้ข้อมูลจะกลายเป็นมาตรฐาน ของทิศทางที่โลกและระบบสาธารณสุขไทยกำลังดำเนินไป
การบริหารจัดการข้อมูลจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่กระทบตั้งแต่ระดับผู้บริหารออกนโยบาย ไปจนพวกเรามดน้อยหน้างาน
ในที่สุด ประเทศไทยก็เข้าเป็นสมาชิก SNOMED CT และจะเริ่มเก็บข้อมูลโดยใช้ระบบศัพท์นี้เป็นรากฐาน เตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร ที่เราไม่อาจพลาดหรือตกขบวนได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้ทุกหน่วยงานในไทยขณะนี้ จะสามารถใช้ระบบศัพท์ SNOMED CT อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (ประเทศเป็นเจ้าภาพออกค่าใช้จ่ายเข้าเป็นสมาชิก) แต่โปรแกรมพื้นฐานที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ รวมถึงระบบงานในภาพรวม ยังไม่ถูกปรับให้ร้อยเรียงเข้ากันได้
บริษัท H Lab จึงร่วมกับโรงพยาบาลสระบุรี มุ่งพัฒนาให้โรงพยาบาลสระบุรีเป็นโรงพยาบาลนำร่องของประเทศในการปรับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ พัฒนาระบบงาน เพื่อรองรับระบบศัพท์ SNOMED CT ที่จะกลายเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบข้อมูลจากนี้ไป โดยมุ่งเน้นให้หน้างานทำงานสะดวก บริหารจัดการข้อมูลสบาย พร้อมต่อยอดการพัฒนาในอนาคต
สำหรับท่านที่สนใจอยากทราบรายละเอียดภาพรวมของ SNOMED-CT เพิ่มเติม
สามารถ Click https://bit.ly/3wqyHUN
เพื่อไปฟังคุณหมอรัฐ จากเพจ Rath Panyowat อธิบายได้เลยจ้า
Comments