ยุคนี้สมัยนี้ เทคโนโลยีเข้าไปเขย่าทุกวงการทุกหย่อมหญ้า วงการแพทย์ก็เช่นกันค่ะ หนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด และถูกนำมาใช้มากที่สุด โดยเฉพาะในยุคโควิดที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น Telemedicine ซึ่งเราจะมาย้อนรอยกันในบทความนี้ค่ะ
Telemedicine คืออะไร
ย้อนอดีตไปสิบกว่าปีก่อน หากยังจำกันได้ ขณะนั้นการติดต่อทางไกล ยังคงสื่อสารด้วยเสียงผ่านระบบโทรศัพท์เป็นหลัก
สำหรับในเมือง การสื่อสารถือว่าไม่ยากนัก แต่ยังมีข้อจำกัด ด้วยไม่อาจส่งภาพให้กันอย่างง่ายดาย การส่งปรึกษาทางการแพทย์ที่จำต้องเห็นภาพ จึงใช้การอธิบาย(ซึ่งผิดบ้างถูกบ้าง)เป็นหลัก
สำหรับนอกเมืองในเขตป่ายิ่งแย่กว่านั้น ด้วยเมื่อไม่มีสายโทรศัพท์ หลายครั้งไม่สามารถติดต่อกันได้เลย
กระทั่งการมาถึงของระบบโครงข่ายอินเตอร์เนทมือถือ การสื่อสารก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที
ขณะนั้นผู้เขียนเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลชายแดนแห่งหนึ่ง ได้รับแจ้งจากพยาบาลท่านหนึ่งว่า เพื่อนพยาบาลซึ่งประจำยังรพ.สต.ในเขตป่า ขอความช่วยเหลือมาทางช่องข้อความของเฟซบุค
เนื้อหามีว่า หญิงแรกคลอดตกเลือดจนสิ้นสติ สามีแบกขึ้นหลังเดินเท้าออกจากป่า มาขอความช่วยเหลือกับตำรวจตระเวนชายแดน โชคดีที่บริเวณนั้นมีโรงเรียน ซึ่งเพิ่งจะมีสัญญาณอินเตอร์เนท ทางตำรวจตระเวนชายแดนจึงส่งภาพและข้อความมาขอความช่วยเหลือ ก่อนที่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งต่อๆกันมาจนถึงมือเราซึ่งเป็นแพทย์เวร
พวกเราจึงประชุมกันทันที
แถบนั้นเป็นป่า แต่มีหมู่บ้านคนเป็นระยะ ทำให้มีสุขศาลาบ้าง มีโรงเรียนบ้าง ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับการสนับสนุนให้มีสัญญาณอินเตอร์เนทประปราย โดยมีรพ.สต.ที่ส่งข้อมูลมาให้ เป็นจุดที่มีสัญญาณอินเตอร์เนทแรงที่สุด
เราติดต่อไปยังสุขศาลาที่ใกล้ผู้ป่วยที่สุดทันที พร้อมวางแผนหาทางลำเลียงหญิงตกเลือดออกมาอย่างปลอดภัยให้ได้ โดยติดต่อไปยังสุขศาลาจุดต่างๆ ให้เตรียมพร้อมเอาไว้ เมื่อถึงจุดแรกให้เปิดเส้น วัดสัญญาณชีพ แล้วส่งข้อมูลมา โดยเราซึ่งเป็นแพทย์เวรจะสั่งการรักษาให้ จากนั้นให้ลำเลียงหญิงตกเลือดไปยังจุดถัดไป อัพเดทอาการส่งมา เราจะสั่งการรักษากลับไปในทุกจุด และทางโรงพยาบาลก็จะส่งรถ ไล่ย้อนขึ้นไปตามเส้นทางที่ได้ตกลงกัน
อันที่จริง หญิงตกเลือดมี BP 60/40 mmHg ที่จุดแรก จากจุดนั้นใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง จึงจะถึงโรงพยาบาล โดยรวมสถานการณ์นับว่าสิ้นหวัง แต่เพราะได้รับการดูแลระหว่างทาง ปรับการรักษา ต่อสู้ร่วมกันเท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงโรงพยาบาลในตอนดึก แม้เธอจะยังไม่รู้สึกตัว แต่ยังมีลมหายใจ เราทำการกู้ชีพต่อเนื่องจนถึงเช้าวันใหม่ หญิงตกเลือดจึงเริ่มฟื้นคืนสติกลับมา
เรื่องนี้จบด้วยดีค่ะ พวกเราช่วยชีวิตเธอไว้ได้ ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าในที่สุด ลูกของเธอเป็นลูกแฝด ได้รับการช่วยเหลือในภายหลัง
แต่หากเรื่องเกิดเร็วกว่านี้สัก 1-2 ปี ในยุคที่การสื่อสารทำได้เพียงผ่านวิทยุเท่านั้น การดูแลระหว่างทางทำได้ยากจนถึงอาจทำไม่ได้ เราคงเสียเธอไปในที่สุด
เหตุการณ์นั้นเป็นครั้งแรกของผู้เขียน และอาจเป็นครั้งแรกๆในไทย ที่มีการดูแลผู้ป่วยวิกฤติจากทางไกล ในลักษณะที่เข้ากันได้กับนิยามของ Telemedicine
ประโยชน์ใช้สอยของ Telemedicine
เวลาผ่านไปหลายปี Telemedicine ถูกพูดถึงเป็นพักๆ แต่ยังไม่มีที่ใช้ชนิดเป็นวงกว้างนัก กระทั่งการมาถึงของโรคโควิด-19 ขณะนั้นเรามีผู้ป่วยจำนวนมหาศาล แต่กลับมีข้อจำกัดอย่างร้ายกาจ ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ และเวลาที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะอยู่ในชุดป้องกันได้
หลายพื้นที่ตัดสินใจใช้ระบบ Telemedicine ตรวจผู้ป่วยทางไกล คัดแยกก่อนว่าผู้ป่วยคนไหน ความหนักเบาระดับใด ก่อนจะส่งหาปลายทางที่เหมาะสม
ผู้ป่วยหนักถูกส่งเข้าโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งการตรวจชนิดเห็นหน้าแตะตัวกัน และเมื่อดีแล้วก็อาจผสมการตรวจติดตามชนิดทางไกล
ผู้ป่วยเบากักตัวอยู่ที่บ้าน ทีมที่ดูแลใช้การตรวจทางไกล ดูแนวโน้มอาการช่วงแรกว่าเป็นเช่นไร โดยอาจไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเลย
จะเห็นได้ว่า การแพทย์ทางไกล Telemedicine ถูกใช้ในหลายระดับ ตั้งแต่การคัดแยกผู้ป่วย, การตรวจผู้ป่วยประจำวัน, และการติดตามอาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งดูแลผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่น้อยที่สุด โดยเกิดความเสี่ยงจะเสียเจ้าหน้าที่คนนั้นจากการติดโรคให้น้อยที่สุดเช่นกัน
สังเกตได้ว่า การตรวจทางไกลในยุคโควิด-19 มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพราะข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรและการควบคุมโรคอีกด้วย
อนาคตของ Telemedicine และการแพทย์ไทย
หลังยุคโควิด -19 เป็นต้นมา สาธารณสุขไทยโอบรับ Telemedicine มากขึ้น ในระดับบริหาร มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ.2564 ถือเป็นการรับรองการแพทย์ทางไกลให้มีอยู่ในระบบสาธารณสุข
ระดับปฏิบัติการ มีการนำ Telemedicine มาใช้ ทั้งในบริบทฉุกเฉิน เช่น EMS แพทย์อำนวยการฯอาจสั่งการรักษาผ่านข้อมูลที่หน้างานส่งเข้ามา, Interhospital Care แพทย์ปลายทาง monitor EKG ผู้ป่วย STEMI ก่อนเตรียมการรักษาให้พร้อม และในบริบทไม่ฉุกเฉิน เช่น OPD มีตัวเลือกตรวจทางไกลให้ผู้ป่วยบางส่วนที่มีความเหมาะสม สอดรับกับนโยบายลดแออัดในโรงพยาบาล
สังเกตได้ว่า Telemedicine ผ่านเข้ามาทางเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ แก้ pain point หลายอย่าง ถูกใช้จริงจนแพร่หลาย ก่อนจะเคลื่อนขึ้นสู่ระดับบน เข้าหาผู้บริหาร ได้รับการยอมรับจนออกมาเป็นนโยบาย
เราเห็นจากอดีตหลายครั้ง นโยบายที่เคลื่อนจากบนลงล่างไม่ยั่งยืนนัก เมื่อไม่อาจแก้ปัญหาที่มีอยู่จริง แค่อยากได้หน้า นายแพทย์ใหญ่ผ่านมาก็ผ่านไป หลายนโยบายจึงลงทุนแล้วไม่ได้ใช้ แต่สำหรับ Telemedicine แตกต่างออกไป
คือหนึ่งในไม่กี่นโยบาย ที่ถูกส่งจากฐานรากขึ้นสู่ยอดปิระมิดอย่างแท้จริง
เชื่อว่าในอนาคต Telemedicine จะอยู่กับระบบสาธารณสุขไทย และค่อยๆพัฒนาตัวตนจนฝังรากลึกลงไป กลายเป็นความปกติใหม่ในที่สุด
Comments