เมื่อพูดถึงความเจ็บป่วย เรามักนึกถึง "โรค"
เป็นโรคหวัดเหรอ โรคหัวใจใช่ไหม โรคเบาหวานเป็นอย่างไร ทั้งหมดคือโรค คือวินิจฉัยที่แพทย์มอบให้คนไข้ นำไปสู่การรักษา จะด้วยยาหรือการผ่าตัดก็ตามที
หากแต่ในวงการแพทย์ มีประโยคอมตะหนึ่งที่ถูกส่งต่อกันมา
"โรคที่คนไข้เป็น กับความเจ็บป่วยที่เขามี อาจไม่ใช่เรื่องเดียวกันก็เป็นได้"
หากเป็นเช่นนั้น แม้รักษาโรคหาย แต่ความเจ็บป่วยที่คนไข้ยังถือไว้ จะไม่หายไป และจะพาเขาวนเวียนไป ในวังวนของความเจ็บป่วยนั้นอย่างหาทางออกไม่ได้ตลอดกาล
Disease(โรค) ไม่ใช่ Illness(ความเจ็บป่วย)
หลายปีก่อน มีผู้ป่วยรายหนึ่งกินยาฆ่าตัวตายมาที่โรงพยาบาล โชคดีเขาลังเลมือสั่น รับยาเข้าไปไม่มาก จึงพอรักษาชีวิตให้รอดไว้ได้
แต่อีกสัปดาห์หนึ่งเขาก็กลับมา ด้วยการแทงตัวตาย แต่แรงไม่พอจึงรอดกลับไปได้
และในอีกหนึ่งเดือนถัดไปเขาก็กินยาตาย และครั้งนี้มาในร่างที่ไร้วิญญาณ
ทุกครั้งผู้ป่วยได้รับการดูแล ทั้งรักษาโรคเดิมที่เป็น โรคใหม่ที่เกิดจากการฆ่าตัวตาย และโรคทางจิตเวชที่นำให้เขาอยากฆ่าตัวตาย ฟังดูครบโรค ครบการรักษาที่จะเป็นไปได้ แต่พวกเราอาจลืมไป ชีวิตซับซ้อน ทั้งดำมืดทั้งงดงาม
ผู้ป่วยรายนี้เป็นโรคทางกายรุนแรงเรื้อรัง เป็นภาระครอบครัวมาอย่างยาวนาน เขาผิดหวังกับตัวเอง ขณะที่ครอบครัวซึมเศร้ากดดัน สุดท้ายเป็นการตัดสินใจร่วมกัน ครอบครัวร่วมรับรู้ในการฆ่าตัวตาย
อันที่จริงแล้วคนคนหนึ่ง มีบริบทแวดล้อมมากมาย มิใช่เพียงเรื่องกายภาพ มิใช่เพียงเป็นโรคอะไร แต่มีชีวิตจิตใจ มีความฝันความหวัง มีศักดิ์ศรี มีสิ่งล้ำค่าสำคัญ ที่ไม่อาจสูญเสียไป
เขาไม่เคยเจ็บป่วยจากโรคที่เขาเป็น มากเท่าซากปรักหักพังของความสัมพันธ์ที่โรคทิ้งเอาไว้
ความเจ็บป่วยจึงอาจมีโรคเป็นต้นทาง เป็นส่วนประกอบ เป็นเหตุปัจจัย
แต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน โรคไม่ใช่ความเจ็บป่วย disease ยังคงไม่ใช่ Illness อย่างแน่นอน
Idea-Feeling-Function-Expectation
ในการซักประวัติผู้ป่วย หลังซักถามเพื่อให้ได้วินิจฉัย ให้เข้าใจ "โรค" แล้ว ยังจะต้องซักถามเพื่อให้เข้าใจ "ความเจ็บป่วย" ด้วย ในวงการการสาธารณสุข รู้จักกันในนามการซักประวัติ IFFE : Idea-Feeling-Function-Expectation
Idea ความคิดความเข้าใจที่มีต่อโรค
Feeling ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนี้
Function กิจกรรมที่เคยทำได้และเปลี่ยนแปลงไป
Expectation ความคาดหวังที่อยากให้เป็น
หลายเดือนก่อนมีผู้ป่วยเข่าเสื่อมมาที่ห้องฉุกเฉิน
"ป้าอยากให้เข่าหายปวด หายไปเลย"
"งั้นเดี๋ยวหมอฉีดยาให้นะ แล้วเดี๋ยวเรากายภาพ..."
"ไม่เอา! ไม่อยากกินยาฉีดยา อยากให้มัน...ให้มันหายเลยได้ไหม ไม่งั้นก็ให้ปวดสุดๆไปเลย"
เหตุการณ์นี้กลายเป็นที่งุนงงของเจ้าหน้าที่ คุณป้ามาโรงพยาบาลทำไมกันแน่เนี่ย! ปวดเข่าอยากหายแต่ไม่อยากรักษา แต่ถ้าหมอบอกทำไม่ได้ดังว่า ก็ขอให้มันปวดสุดๆไปเลย!!
หน้างานจึงเริ่มซักประวัติในมุม IFFE ดูบ้าง เผื่อจะได้ความมากกว่าเดิมก็เป็นได้ พอตะล่อมถามๆไป ผู้ป่วยเข้าใจโรคเข่าเสื่อมเป็นอย่างดี เข้าใจว่ามากับอายุ เข้าใจว่าเรื้อรังต้องค่อยเป็นค่อยไป (Idea) แต่ผู้ป่วยกังวลใจ (Feeling) เพราะพรุ่งนี้บุตรสาวคนเดียวจะแต่งงาน!
ผู้ป่วยอยากหายปวด เพื่อจะช่วยรับแขกไม่ให้ลูกน้อยหน้า (Function-Expectation) แต่ก็กลัวหากนั่งรถเข็นกินยา จะกลายเป็นภาพไม่น่าดู เป็นภาระถ่วงงานแต่งงาน จึงเกิดความสับสน อยากปวดให้มันสุดๆจะได้เข้าโรงพยาบาล เพื่อจะมีเหตุไม่ต้องไปงานมันซะเลย
จะเห็นได้ว่า IFFE ทำให้เราเข้าใจ Illness ของผู้ป่วย ซึ่งไปคนละเรื่องเลยกับ Disease ที่เป็น
หลังเข้าใจความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ทีมงาน(แพทย์-พยาบาล-ผู้ช่วยฯ-ป้าแม่บ้านที่ชำนาญงานแต่ง) จึงช่วยกันวางแผน กำหนดเวลากินยาให้ออกฤทธิ์ตรงกับช่วงสำคัญ และวางแผนหากเกิดเจ็บขึ้นกลางงาน ให้กำลังใจแม่ยายมือใหม่ รวมถึงอวยพรคู่บ่าวสาว เหตุชุลมุนงุนงงจากการปวดเข่าแต่ไม่อยากรักษา จึงคลี่คลายด้วยประการฉะนี้
ในปัจจุบัน การแพทย์ให้ความสำคัญกับการรักษาแบบองค์รวม หรือ Holistic Care มากขึ้น มีการพูดคุยถึงความคิดความรู้สึกของคนไข้ บริบทในชีวิตที่ล้อมกรอบไว้ ความคาดหวังในใจ ไปจนถึงปลายทางที่อยากเดิน
นำไปสู่การตรวจรักษา การบริหารจัดการโรคอย่างเป็นองค์รวม ที่หลายปัจจัยอาจเคยถูกละเลยมาก่อนในอดีต
แม้ว่าเรื่องราวทั้งหมด จะเกิดจากโรคที่เป็น disease แต่ illness หรือความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจริง สำหรับผู้ป่วยคนหนึ่งๆ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะตัวโรคเสมอไป ยังคงมีบริบท มีเรื่องราว มีห้วงเวลา ทุกสิ่งผ่านมาแล้วผ่านไป
ยังคงเป็นชีวิตของคนจริงๆ
Comments