มองผิวเผินของนโยบายนี้อาจจะมองว่ามีข้อดีมากมาย แต่แท้จริงแล้วม้นแอบซ่อนอุปสรรคใหญ่ไว้หลายประการ
หนึ่งในนั้นที่แพทย์กังวลใจ คงหนีไม่พ้นความต่อเนื่องของข้อมูลการตรวจรักษา เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่อง
เมื่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลหนึ่ง ออกโรงพยาบาลสอง และอาจไปนอนที่โรงพยาบาลสาม เช่นนั้นแล้วการตรวจรักษาจะต่อเนื่องได้อย่างไร จะบริหารจัดการข้อมูลอย่างไร สุดท้ายแล้วคงต้องมาวางแผนระบบการส่งต่อข้อมูลกันต่อไป
ความสำคัญของการส่งต่อข้อมูลการตรวจรักษา
“ไม่มั่นใจการตรวจของโรงพยาบาลเดิม เลยพาคุณแม่มาที่นี่ค่ะ อยากให้คุณหมอตรวจใหม่ทั้งหมดเลย”
ในวันธรรมดาวันหนึ่ง อาจมีผู้ป่วยเข้ามาขอรับการตรวจรักษา ในลักษณะที่ว่า...ต้องทำใหม่ทั้งหมด...เช่นนี้ไม่น้อย
สาเหตุอาจเป็นได้ทั้ง ไม่มั่นใจการตรวจจากโรงพยาบาลเก่า ต้องการความเห็นเพิ่มเติม ไปจนถึงปัญหาพื้นฐานอย่างการย้ายถิ่นที่อยู่ และไม่สะดวกกลับไปขอข้อมูลการรักษาเก่า ญาติและผู้ป่วยส่วนใหญ่เข้าใจว่า การตรวจรักษาสามารถทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด แต่แท้จริงแล้วมิใช่เช่นนั้น
“ที่ผมเคยเจอแล้วยากๆนะพี่ ไป CT with contrast มาแล้ว เค้าจะให้ผ่าแต่ญาติพามานี่ จะมาขอทำใหม่ แต่เพิ่งทำมาแค่วันเดียวไง ผมไม่กล้าส่งซ้ำ”
คุณหมอหนุ่มประจำห้องฉุกเฉินท่านหนึ่งให้ข้อมูล
การตรวจบางชนิด ไม่เพียงทำได้ยากหรือมีราคาแพง แต่ยังความเสี่ยงให้แก่สภาพร่างกายของผู้ป่วย ดังเช่นการตรวจแบบฉีดสี (หรือ contrast) ซึ่งมีความเสี่ยงไตวาย การทำซ้ำในเวลาไล่เลี่ยกัน ย่อมเพิ่มความเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
นอกจากนี้การตรวจบางชนิด ไม่สามารถทำซ้ำได้ ทั้งจำกัดด้วยเวลา เช่น ต้องทำที่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ หรือจำกัดด้วยตัวของหัตถการเอง เช่น การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เมื่อทำแล้วย่อมทำซ้ำไม่ได้
การย้ายที่รักษาโดยหวังว่าจะตรวจใหม่ทั้งหมด จึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก
“ผลเลือดรอบสอง Platelet(เกร็ดเลือด)เป็นขาขึ้นชัดเจน ก็ยืนยันกับเขาไปว่า กลับบ้านได้จริงๆ”
คุณหมอหนุ่มเล่าต่อ ถึงผู้ป่วยไข้เลือดออกที่โรงพยาบาลเดิมให้กลับบ้านได้ แต่ญาติกังวลใจ จึงพามาขอคำปรึกษา
หลายครั้งผลตรวจจากโรงพยาบาลเดิม เมื่อประกอบกับผลรอบสองที่โรงพยาบาลใหม่ ช่วยให้แพทย์หน้างานแปลผลได้ง่าย ชัดเจน และแม่นยำยิ่งขึ้น หรือบางทีการส่งต่อข้อมูลการรักษาที่เป็นเนื้อเดียวกัน อาจเป็นคำตอบของหลายอย่างก็เป็นได้
—
ระบบการส่งต่อข้อมูลในปัจจุบัน
หลายปีก่อนการส่งต่อผู้ป่วย(Referral system หรือที่เรียกสั้นๆว่า รีเฟอ) จะมาพร้อมจดหมายส่งตัวและแผ่นก็อปปีหลากสี โดยจดหมายดังกล่าวทำหน้าที่ทั้งส่งต่อข้อมูลการตรวจรักษาทั้งหมด และเป็นแบบยืนยันการส่งต่อสิทธิ์การรักษา ให้โรงพยาบาลปลายทางสามารถเบิกจ่ายตามระบบได้
เมื่อเวลาผ่านไป มีความพยายามปรับใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และเข้าสู่ยุคของ Thai Refer ในปัจจุบัน
“คือสิทธิ์น่ะส่งได้ แต่ข้อมูลคนไข้ยังมีปัญหา”
เมื่อพูดถึงการส่งตัว สำหรับบุคลากรด่านหน้าแล้ว สิทธิ์เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญคือข้อมูลผู้ป่วยทั้งก่อนส่งต่อ, ระหว่างส่งต่อ, และหลังตรวจรักษาเรียบร้อยแล้ว ทำอย่างไรจึงจะเป็นเนื้อเดียวกัน
โปรแกรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้สิทธิ์โรงพยาบาลต้นทางและปลายทาง ในการเชื่อมต่อข้อมูลบางส่วนถึงกันได้ อย่างไรก็ดี ได้มีการตั้งกระทู้ถามในงานระดับประเทศงานหนึ่ง ถึงปัญหาของโปรแกรม Thai Refer ** ที่เมื่อลงทะเบียนแล้ว กลับใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง บางพื้นที่หลักชั่วโมง-บางพื้นที่หลักวัน ในการเข้าสู่ระบบอย่างสมบูรณ์ ทำให้โปรแกรมส่งต่อข้อมูลดังกล่าว ไม่ยังประโยชน์ดังที่ควรเป็น กลายเป็นเพียงงานรูทีนที่ต้องทำเท่านั้น
คำตอบในขณะนั้น เกี่ยวพันกับ “พื้นที่” การเก็บข้อมูล ที่มีลักษณะเป็น server ตั้งโต๊ะแบบดั้งเดิม กระจายตามจุดต่างๆทั่วประเทศ และ “ช่องทาง” การเชื่อมต่อข้อมูล ที่คล้ายเป็นการเชื่อมต่อจุดกับจุดกับจุด ซึ่งยังไม่ต่อเนื่องเท่าทันการทำงานจริงนัก
หรืออีกนัยหนึ่ง ปัญหามิได้อยู่ที่โปรแกรม(ช่องทางรับเข้าข้อมูล) แต่อยู่ที่ “สถาปัตยกรรมข้อมูล” ที่พัฒนาไม่เท่าทันโลกยุคปัจจุบันอีกต่อไป
**การประชุมนี้เกิดขึ้นในปีก่อนเกิดโควิด
—
ระบบการส่งต่อข้อมูลในอนาคต
หลายปีมานี้ โดยเฉพาะช่วงโควิดเป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาทั้งยูนิตลักษณะ data center เช่น Health Data Center (HDC) สำหรับเป็นศูนย์ข้อมูลที่เกี่ยวพันกับสุขภาพระดับมหภาค และลักษณะที่เป็น digital (health) wallet เช่น หมอพร้อม, H4U ออกมาให้บริการประชาชน
ทั้งสองลักษณะนี้ ต่างเป็นองค์ประกอบสำคัญ ต่อการพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลการรักษาในอนาคต โดยอาจเป็นต้นแบบของ Data Center และ digital health wallet ที่เน้นจัดเก็บเรียกดูข้อมูลการตรวจรักษาก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลใจถึง “สถาปัตยกรรมข้อมูล” (Data Architecture) หรือการวางระบบการจัดการข้อมูลอยู่บ้าง
สถาปัตยกรรมข้อมูล อาจเทียบเคียงได้กับระบบประสาทของมนุษย์ มีช่องทางคอยรับรู้สิ่งกระตุ้น จดจำคิดวิเคราะห์ในสมอง นำส่งคำสั่งผ่านเส้นประสาท ไปยังปลายทางที่ต่างกัน
สถาปัตยกรรมข้อมูลก็เฉกเช่นเดียวกัน ต้องวางระบบตั้งแต่การรับเข้า จัดเก็บ ประมวลผล นำส่ง ในช่วงชั้นและรูปแบบที่แตกต่างไปตามสถานการณ์
ต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯเปิดตัว Government Data Center and Cloud Service (GDCC) ออกมาให้บริการ โดยพัฒนาต่อยอดมาจาก G-cloud ที่ใช้กันในหน่วยงานภาครัฐก่อนหน้านี้ หวังใจว่าจะช่วยเป็นฐานของระบบสถาปัตยกรรมข้อมูลส่วนกลางในอนาคต
ดูเหมือนภาครัฐเองก็มิได้นิ่งนอนใจ
บางทีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เราอาจเรียกดูผลการสวนหัวใจของผู้ป่วย ที่มาเที่ยวแถวนี้แล้วบังเอิญหัวใจวายกลางดึกกะทันหันได้ก็เป็นได้
—
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดยังมีอีกหลายเสียงกังวลใจ
ข้อมูลที่เปราะบางล่อตาล่อใจระดับประวัติการรักษา จะเชื่อมั่นได้มากน้อยเพียงใดว่าปลอดภัย...แค่ไหน…อย่างไรกันแน่
และสุดท้าย การมีโปรแกรมชื่อเท่ หรือระบบชื่อเก๋ๆ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมข้อมูลเท่านั้น การจัดวางยูนิตต่างๆ การวางระบบเชื่อมต่อ การจัดการมาตรฐาน กลับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา
ขอให้นึกถึงว่า ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง แม้จะเคยมีร่างกายแข็งแรงเพียงใด แต่เมื่อสมองและเส้นประสาทไม่ทำงานแล้ว ย่อมกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงโดยง่ายเช่นกัน
留言