top of page
  • Apichaya Sukprasert

รง.506 ในฝัน กับระบบดิจิทัลเฝ้าระวังแห่งอนาคต

ถ้าใครเคยอยู่หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก หรือขึ้นเวรห้องฉุกเฉิน คงพอคุ้นๆกันว่า เมื่อไหร่เจอโรคระบาดโรคเฝ้าระวังที่กระทรวงจับตา ต้องเขียนรายงานลงกระดาษยืดยาว


กิจกรรมน่าเบื่อ(แต่มีประโยชน์)นั้นจะไม่มีอีกต่อไปแล้วค่ะ!


ต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขเปิดตัว "ระบบดิจิทัลเฝ้าระวัง" ออกมาอย่างเงียบๆ แต่สั่นสะท้าน

จุดน่าสนใจของระบบดังกล่าว ไม่ใช่เพียงนำดิจิทัลเข้ามาแตะงานดั้งเดิมแบบแยกส่วน แต่ปูพรมระบบดิจิทัลลงไปอย่างเต็มสูบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งให้ระบบงานเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค น่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาไม่ช้า


--


ย้อนรอยรายงาน 506


รายงาน 506 คือรายงานโรคของกรมควบคุมโรค ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รวมไปถึงสถานพยาบาล เมื่อพบโรคระบาดโรคเฝ้าระวัง ต้องส่งรายงานกลับไปยังสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และต่อไปยังกรมควบคุมโรค ภายในเวลาที่กำหนด เพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงข้อมูล


รายงานดังกล่าวนี้อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน แรกเริ่มอยู่ในรูปไปรษณียบัตร ถัดมาพัฒนาเป็นกระดาษรายงาน ก่อนจะค่อยๆปรับเป็นการดึงข้อมูลส่งสสจ.อย่างในปัจจุบัน


สังเกตว่า ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เราค่อยๆลดระยะเวลาในการส่งต่อข้อมูล และภาระงานในการกรอกข้อมูลลงมาเรื่อยๆ 




รูป 1 : ระบบส่งต่อข้อมูลในอดีต


อย่างไรก็ดี จากแผนภาพด้านบน เห็นได้ว่า แม้ข้อมูลจะอยู่รูปดิจิทัลแล้ว แต่ระบบยังคงมีรอยต่อที่ต้องการคนในการเชื่อม ส่งให้การไหลของข้อมูลทั้งหมด ไม่อาจเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติได้




รายงาน 506 ในฝัน 


ระบบดิจิทัลเฝ้าระวัง มองในแง่กระบวนการทำงานแล้ว เป็นการเชื่อมรอยต่อของระบบดั้งเดิม ให้ประสานกัน ให้ข้อมูลสามารถไหลผ่านอย่างเป็นอัตโนมัติได้




รูป 2 : ระบบดิจิทัลเฝ้าระวัง


อธิบายอย่างเข้าใจง่าย เมื่อมีเคสโรคระบาดโรคเฝ้าระวังเกิดขึ้น HIS ของสถานพยาบาล จะส่งข้อมูลออกไปยังระบบคลังข้อมูลและสุขภาพของกรมควบคุมโรค จากนั้นระบบจัดการจะดึงข้อมูลที่เหมาะสมขึ้นมาประมวลผล ก่อนจะส่งออกไปแสดงผลยัง dashboard ของกรมควบคุมโรคต่อไป


(กระบวนการหลังบ้านน่าจะมีความซับซ้อนพอควร แต่จะไม่ได้ลงลึกในบทความนี้นะคะ และเท่าที่ทราบ ทางกรมควบคุมโรคจะดูแลติดตั้งให้ค่ะ)


มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านคงสังเกตเห็นแล้วว่า การไหลของข้อมูลจะเกิดขึ้นเอง โดยไม่สะดุดหรือต้องรั้งรอแรงงานคนที่จุดใด นั่นทำให้เกิด 2 ปรากฎการณ์

1.การส่งต่อข้อมูลแบบ realtime

เมื่อข้อมูลถูกส่งต่ออัตโนมัติ จึงสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นปัจจุบันทันทีได้

2.การลดลงหรือหายไปของภาระงาน

จากระบบข้างต้น สังเกตได้ว่าภาระงานหายไป ไม่ว่าจะเป็นภาระการกรอกข้อมูลลงกระดาษของหน้างาน ไปจนถึงภาระในการรวบรวมข้อมูลส่งส่วนกลาง ทั้งหมดเกิดขึ้นเอง ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคนอีกต่อไป


แต่ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ยังไม่จบเพียงเท่านี้ค่ะ




ระบบดิจิทัลเฝ้าระวังแห่งอนาคต


ที่เล่าไปทั้งหมด ยังเป็นเพียงขาเข้าของข้อมูลเท่านั้น


pain point อันหนึ่งของชาวสาธารณสุข คือเมื่อเราส่งข้อมูลไปแล้ว ไม่บ่อยนักที่จะได้ "คืนข้อมูล" มา หรือพูดอย่างเข้าใจง่ายว่า มีเพียงขาเข้าส่งข้อมูลขึ้นไป แต่ไม่มีขาออกในการแจ้งบทวิเคราะห์ข้อมูลส่งคืนกลับมานัก

สาเหตุหนึ่ง อาจเพราะไม่มีช่องทางส่งคืนอย่างเป็นกิจลักษณะ 

อีกสาเหตุหนึ่ง อาจเพราะการประมวลผลเกิดขึ้นได้ช้า รั้งรอข้อมูลจากหลายทาง รวมถึงใช้การคำนวณหลากหลาย

นี่กลายเป็นอีกจุดพัฒนา





รูป 3 : Dash Board ระบบดิจิทัลเฝ้าระวัง


จุดเด่นหนึ่งของระบบดิจิทัล ที่การไหลของข้อมูลเกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติ คือการต่อยอดประมวลผลอย่างอัตโนมัติ และแสดงผลอย่างอัตโนมัติ


dash board ระบบดิจิทัลเฝ้าระวัง อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ไปจนถึงประชาชน สามารถเรียกดูข้อมูลที่ตนสนใจ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ป่วยโรคระบาดโรคเฝ้าระวัง ในพื้นที่ต่างๆ ในกลุ่มอายุต่างๆ รวมไปถึงเรียกดูข้อมูลในลักษณะลำดับ ว่าโรคใดมาก-น้อย กลุ่มอายุใดมาก-น้อย ในพื้นที่ใด ไล่เรียงไปในแต่ละสัปดาห์ได้

ทั้งนี้ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มี account อาจได้รับอนุญาตให้ดูข้อมูลลึกซึ้งขึ้น ล้อกันไปกับลักษณะงาน


โดยข้อมูลทั้งหมด ประมวลผลอย่างเป็นอัตโนมัติ จึงสามารถเข้าใช้งานได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะที่ใด เวลาใดก็ตาม


จะเห็นได้ว่า ระบบดิจิทัลเฝ้าระวัง แก้ปัญหาการคืนข้อมูลไม่เพียงกับหน้างานเท่านั้น แต่ยังลงถึงประชาชนให้ได้รับทราบ นับเป็นประโยชน์ต่อการสื่อสาร และอาจรวมถึงการควบคุมโรคในอนาคตด้วย




ก่อนการระบาดของ COVID-19 การรายงานโรคมักมีเวลาหน่วง บางครั้งอาจนานถึงหลักสัปดาห์ จากการส่งข้อมูลล่าช้า ด้วยเพราะใช้มือเขียนบ้าง หรือต้องการคนรวมข้อมูลในจุดต่างๆบ้าง กระทั่งเข้าสู่การระบาดที่ผ่านมา สถานการณ์บีบให้พวกเราต้องทำข้อมูลในหลักวันต่อวัน จนกลายเป็นความโกลหลในหลายพื้นที่ บ่งชี้ว่าระบบที่เคยมี อาจไม่ทันเหตุการณ์อีกต่อไป


ระบบดิจิทัลเฝ้าระวัง จึงนับเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขและของประเทศไทย ที่จำทำให้ระบบข้อมูลของเราทันสมัย ลดภาระงาน เท่าทันเหตุการณ์ และเข้าถึงได้แม้สำหรับประชาชน



ดู 23 ครั้ง

Comentários


bottom of page