top of page
  • Apichaya Sukprasert

สถานชีวาภิบาล: จุดมุ่งหมายและทางไปของครอบครัวไทยในยุคสังคมผู้สูงอายุ

ปี 2567 นี้ ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์(Complete Aged Society) กล่าวคือมีประชากรอายุเกิน 60 ปีมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด


ในอดีตสังคมมีลักษณะครอบครัวขยาย ลูกหลานในบ้านส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรมใกล้บ้าน เมื่อมีผู้สูงอายุดูแลตนเองไม่ได้ในบ้าน ย่อมมีลูกหลานในอีกหลายห้วงอายุคอยดูแล


ทว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนไป มีลักษณะครอบครัวเดี่ยว ลูกหลานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ ต่างออกไปทำงานห่างไกล การดูแลผู้สูงวัยจึงเริ่มเป็นปัญหา


ปัญหา...ที่หนักทั้งคุณภาพ กล่าวคือ ครอบครัวเองอาจหาทางออกได้ยาก

ปัญหา...ที่หนักทั้งปริมาณ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุในขณะนี้และอนาคตอันใกล้นั้น มีท่าทีพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง


ทางเลือกและ “ทางไป” ของสังคมผู้สูงอายุไทยจะเป็นอย่างไรต่อ เรามาศึกษาผ่าน “โมเดลสถานชีวาภิบาล” ไปพร้อมกันค่ะ


--


ทางเลือกของครอบครัวและการดูแลผู้สูงวัย


"ผมไปเจอเขาข้างทาง จรจัดน่ะครับ ไม่รู้บ้านอยู่ไหน สงสารเลยพามาส่งรพ."


หลายปีก่อน ผู้เขียนรับเคสพลเมืองดีนำผู้สูงอายุไร้บ้าน ที่ดูเหมือนมีโรคประจำตัวช่วยเหลือตัวเองไม่ได้มาส่ง คุณยายพูดได้ แต่เมื่อถามเรื่องครอบครัวกลับไม่ตอบ กลายเป็นปริศนาให้คนในวอร์ดช่วยกันหา

หลายวันผ่านไป กลับได้ทราบเรื่องสะเทือนขวัญชิ้นหนึ่ง


"หมอ ยายคนนั้นน่ะ แกเป็นแม่คนเอามาส่งนั่นแหละ"

"ตอนนี้ติดต่อไม่ได้แล้วล่ะ"


ทางเลือกของครอบครัวในการดูแลผู้สูงวัยช่วยเหลือตนเองไม่ได้มีมากนัก ในอดีตอาจเป็นการจ้างใครสักคนมาฝึกสอนดูแลกันที่บ้าน หรือไม่ก็พาไปปล่อยวัดปล่อยโรงพยาบาล อย่างในตัวอย่างข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง


หลายปีผ่านไป ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุก็เริ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในระดับต่างๆ โรงพยาบาลผู้สูงอายุที่เน้นเฉพาะด้าน ไปจนถึงธุรกิจรับจัดหาผู้ดูแลอย่างมีมาตรฐาน ล่าสุดยังลามถึงธุรกิจพาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาล กรณีลูกหลานมีธุระปะปัง


อย่างไรก็ดี การใช้บริการธุรกิจเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ อาจเรียกค่าใช้จ่ายต่อเดือนตั้งแต่ 15000 บาท และอาจสูงถึง 50,000 บาทในบางแห่ง ขณะที่ค่าจ้างดูแลผู้สุงอายุ กรณีผู้ดูแลระดับสูงมีมาตรฐานรองรับ ราคาอาจห่างกันไม่มากนัก และแม้จะเป็นกรณีผู้ดูแลทั่วไป ก็ยังสูงเทียบเท่าเงินเดือนของแรงงานระดับปริญญาตรีจบใหม่เลยทีเดียว ขณะที่รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของครอบครัวไทยไม่สูงไปกว่านี้นัก 


ทางเลือกของแต่ละครอบครัวจึงจำกัด ขึ้นกับระดับรายได้และความจำเป็นในชีวิต 


บางครอบครัวจำต้องเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่ง ให้ลาออกจากงานเพื่อดูผู้สูงอายุที่บ้าน หากมองในภาพกว้าง ย่อมเท่ากับประเทศสูญเสียกำลังวัยแรงงาน และหากมองในภาพย่อยระดับบุคคล สมาชิกผู้เสียสละ ย่อมสูญเสียอนาคตหน้าที่การงาน และอาจรวมไปถึงแผนเกษียณของตนในอนาคต ทั้งยังอาจนำไปสู่ care giver burden ในตอนท้าย


ดูเหมือนทางเลือกการดูแลผู้สูงวัย จะยังจำกัดและเป็นปัญหาอยู่มาก


--


สถานชีวาภิบาล


จากปัญหาทั้งหมด นำไปสู่นโยบายผลักดัน "สถานชีวาภิบาล" ในชุมชน


สถานชีวาภิบาล กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ให้ความหมายถึงสถานพยาบาล ที่สามารถดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยระยะท้าย รวมถึงผู้สูงวัยที่มีภาวะพึ่งพิงได้ 


เป้าหมายของนโยบายสถานชีวาภิบาล มีขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระลูกหลาน อาจเรียกได้ว่า เพื่อปลดปล่อยประชากรวัยแรงงาน กลับสู่ระบบเศรษฐกิจ และแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทย


อย่างไรก็ดี การดำเนินการจัดตั้งยังคงต้องพบเจอความท้าทาย


ต้นปีที่ผ่านมา นโยบายสถานชีวาภิบาลถูกกระจายลงไปยังระดับปฏิบัติการ โครงสร้างของสถานชีวาภิบาลและโครงการนำร่อง มีจุดน่าสนใจดังนี้




ภาพ 1 : โครงสร้างสถานชีวาภิบาล 

(อ้างอิง : “บทบาท สปสช. ในการสนับสนุนระบบสุขภาพสู่สถานชีวาภิบาลในวัดและชุมชน” 

โดย นงลักษณ์ ยอดมงคล, ขวัญใจ จิรัฐจินดา, สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) 26 ธ.ค.2566)


จะเห็นได้ว่า การจัดตั้งสถานชีวาภิบาล ไม่เพียงก่ออิฐฉาบปูนตึกสักหลังขึ้นมาเท่านั้น แต่มีทั้งระดับโรงพยาบาล ที่ต้องสร้างระบบขึ้นรองรับ นำเข้าส่งออกผู้ป่วยที่เหมาะสมลงไปยังสถานชีวาภิบาล รวมถึงสอดส่องดูแล เป็นหลักด้านวิชาการ และรองรับมาตรฐาน ของสถานชีวาภิบาลแต่ละแห่งอย่างเหมาะสม


ขณะที่ระดับชุมชน มีเป้าหมายจัดตั้งสถานชีวาภิบาลให้จงได้ โดยอาจยกระดับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุภาคเอกชนในชุมชน หรืออาจเป็นองค์กรการกุศลที่สนใจ หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจเป็นองค์กรศาสนาที่มีพันธกิจเกี่ยวพัน ให้เข้ามาตรฐาน มีระบบเบิกจ่าย และเข้าร่วมในระบบสถานชีวาภิบาล 


ทั้งนี้ มีจุดน่าสนใจจุดหนึ่ง องค์กรพระพุทธศาสนาหลายแห่งทั่วประเทศไทย ประสบปัญหาสงฆ์อาพาธ ติดเตียง ไม่อาจดูแลตนเองได้ หรือในทางกลับกัน ภิกษุสงฆ์หลายรูป ก็ไม่อาจดูแลบุพการีที่ล้มป่วยลงได้ วัดหลายแห่งในประเทศไทย จึงมีระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยพื้นฐานในระดับหนึ่ง


นโยบายสถานชีวาภิบาลในขณะนี้ จึงเริ่มเดิมหน้า โดยเริ่มเน้นระบบในระดับโรงพยาบาล และการยกระดับวัดขึ้นเป็นสถานชีวาภิบาลในระดับชุมชน


--


ความท้าทายของสถานชีวาภิบาล


นโยบายสถานชีวาภิบาล แม้มีความเหมาะสมกับประชาชน ถือเป็นปัญหาที่เกิดกับแทบทุกครัวเรือนในปัจจุบัน ทว่า ยังมีความท้าทาย มีร่องรอยอุปสรรคในหลายแง่มุม


ปัจจุบัน บุคลากรในระบบสาธารณสุข อยู่ในภาวะไหลออกมากกว่าไหลเข้า ทั้งไหลออกไปภาคเอกชน ไปต่างประเทศ หรือไปสู่ธุรกิจอื่น ขณะเดียวกัน อาชีพใหม่อย่างผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง-ผู้สูงวัยมีภาวะพึ่งพิง ยังคงเป็นงานหนัก เกี่ยวพันกับผู้ป่วย จากการสัมภาษณ์เจ้าของศูนย์ผู้สูงอายุในเขตปริมณฑล ให้ข้อมูลว่า อาชีพดังกล่าวหาคนยาก ไม่เป็นที่นิยม ทั้งมีอัตราการลาออกสูง การบริหารจัดการบุคลากร จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ยิ่งไปกว่านั้น การก่อตั้งสถานพยาบาล มีขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาล นั่นคือสถานชีวาภิบาล จำต้องมีระบบเทคโนโลยีบางอย่าง ที่ทั้งเบิกจ่ายตามระบบราชการ และสื่อสารกับโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที นั่นกลายเป็นภาระการจัดตั้ง ไปจนถึงฝึกใช้ระบบเทคโนโลยีในระดับชุมชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย


ท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด(Super Aged Society) ปัญหาการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยมีภาวะพึ่งพิง จะไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทบครอบครัวในระดับบุคคล กระทบสังคมในระดับประเทศ คล้ายระเบิดที่พร้อมแตก แล้วสาดสะเก็ดไปยังพื้นที่โดยรอบ


นโยบายสถานชีวาภิบาล จึงอาจเป็นนโยบายเร่งด่วน ที่สมควรเร่งรัดให้สำเร็จโดยไว แม้จะยังมีความท้าทายในหลายแง่มุมก็ตามที



ดู 46 ครั้ง

Comments


bottom of page