top of page
  • Apichaya Sukprasert

สมรสเท่าเทียม : ความเท่าเทียมที่มากกว่า "สมรส"

"เป็นผมไม่ได้เหรอครับ"


หลายปีก่อนผู้เขียนได้พบผู้ป่วยและญาติคู่หนึ่ง ทั้งคู่เป็นคู่รัก เพื่อนคู่คิด และคู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมานาน


หลังรู้ใจตัวเองเมื่อเกือบห้าสิบปีก่อน ด้วยสภาพสังคมแตกต่างจากยุคปัจจุบัน ครอบครัวของทั้งคู่ไม่อาจรับได้ จึงตัดสินใจขอขมาและบอกลาบุพพการีของทั้งสองฝ่าย ร่วมจับมือเดินออกมา


ปีแล้วปีเล่าผ่านไป จากคู่รักวัยหนุ่ม ฝ่าฟันชีวิตแต่ละห้วงเวลามาร่วมกัน ท้ายสุดสองมือที่เกาะกุมกัน เหี่ยวย่นร่วงโรยไปตามวัย


วันหนึ่งคุณลุงคนไข้ไอเป็นเลือด และตรวจพบว่าตนเป็นมะเร็งปอดในเวลาต่อมา


เกือบปีผ่านไป หลังผ่านการรักษา ทั้งผ่าตัดฉายแสงให้ยาหลายขนาด คุณลุงคนไข้รับทราบ ครั้งนี้ไม่อาจผ่านไปได้ แต่ชีวิตนี้ไม่มีติดค้าง ไม่มีสิ่งใดเสียใจ ตัดสินใจรักษาประคับประคอง ขอไม่ยื้อชีวิตเมื่อถึงเวลา


หากใครเคยมีญาติพี่น้องเป็นโรคดังกล่าวคงทราบว่า ความตายไม่น่ากลัวเท่าห้วงเวลาสุดท้าย ผู้ป่วยจะหอบเหนื่อยหายใจไม่ไหว สติสัมปะชัญญะเลือนลางไป จำต้องได้รับยามอร์ฟีนบรรเทาอาการ


ในยุคนั้น living will หรือหนังสือแสดงเจตนาในวาระสุดท้าย ยังไม่แพร่หลาย คุณลุงคนไข้มิได้ตระเตรียมไว้ เพียงบอกปากเปล่ากับคนข้างกาย มุ่งหมายให้ตัดสินใจแทนกัน


ปัญหาเกิดขึ้น ณ จุดนั้น


เมื่อถึงเวลา คุณลุงคู่ชีวิตกลับไม่อาจลงนามแทนได้


--


ในยุคปัจจุบัน แม้ living will จะแพร่หลายมากขึ้น มีกฎหมายรองรับ แต่สภาพสังคมและวัฒนธรรม บางครั้งยังจำต้องมีญาติร่วมตัดสินใจและลงนามเป็นพยาน


หรือบางครั้งเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นกะทันหันไม่ทันเตรียมการ ผู้ป่วยไม่อยู่ในฐานที่ตัดสินใจได้ ความคิดเห็นจากญาติผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมาย จะเป็นหลักสำคัญในการเลือกเส้นทางการรักษา


"คนไข้เลือดออกในสมองปริมาณมาก"

หลายปีก่อน มีคู่คุณยายที่น่ารักคู่หนึ่ง คุณยายคนไข้เกิดเหตุเลือดออกในสมอง

"การผ่าตัดมีความเสี่ยงมากค่ะ อาจเสียชีวิตระหว่างผ่าตัด แต่ก็เป็นทางเดียวที่ผู้ป่วยจะกลับมาได้"

"ถ้าไม่ผ่าตัด น่าจะพิการติดเตียงแน่นอนค่ะ"


อันที่จริงเหตุการณ์นี้มีรายละเอียดมากกว่านี้นะคะ แต่โดยคร่าวๆแล้ว ด้วยโรคประจำตัวหลายอย่างทำให้การผ่าตัดมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูง คุณยายคู่ชีวิตตัดสินใจผ่าตัด เพราะคุณยายคนไข้เคยบอกไว้ว่า หากเป็นอะไรไปไม่กลัวความตาย แต่กลัวว่าจะจำเธอไม่ได้มากกว่า (กรี๊ดดดดด อายม้วนเลยค่ะ) น่าเศร้าคือ คุณยายคู่ชีวิตไม่สามารถลงนามได้ พวกเราทีมงานจึงทำการติดต่อไปยังหลานสายที่ใกล้ชิดที่สุด


"ถ้าเขาเสียขึ้นมาผมรับผิดชอบไม่ไหวหรอกครับ"

"ขอโทษนะคะคุณหมอ อยู่ไกลจริงๆ อีกอย่างไม่เจอแกหลายสิบปีแล้ว"

"อ่า แฟนแกว่าไงนะครับ เอ๊ะ คือผมต้องเซ็นต์เหรอ"


ด้วยสภาพสังคมสมัยก่อน การตัดสินใจเริ่มชีวิตร่วมกันของทั้งคู่ กลับตัดสัมพันธ์ญาติพี่น้องให้ขาดสะบั้น แม้ภายหลังจะพบเจอกันบ้าง แต่ไม่อาจนับเป็นญาติสนิทชิดเชื้อได้ ยิ่งหากต้องตัดสินใจในเรื่องความเป็นตาย มองอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ใครอยากเกี่ยวพัน


คุณยายคนไข้ไม่ได้รับการผ่าตัด และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยมีคุณยายคู่ชีวิตเป็นผู้ดูแล ทราบต่อมาว่า ทรัพย์สินที่หามาร่วมกัน ถูกญาติฝั่งคุณยายคนไข้นำออกไป ดีที่คุณยายคู่ชีวิตมีเงินเก็บอยู่ ทั้งญาติคนหนึ่งก็เห็นใจเจรจานำบางส่วนมาคืน จึงพอใช้ชีวิตสองปากท้องต่อไปได้


---


อันที่จริงการตัดสินใจการรักษา ไม่ว่าจะการผ่าตัดช่วยชีวิต หรือการตัดสินใจจะจากไป ไม่ว่าจะเรื่องเร่งด่วน หรือเรื่องที่สามารถเตรียมการไว้ได้ ถือเป็นสิทธิ์พื้นฐานที่คนคนหนึ่งพึงจะมี


แต่หลายครั้งเหตุการณ์ดังนั้นเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในลักษณะที่ตัดสินใจได้ จำต้องมี surrogate decision maker หรือผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทน


โดยหลักการแล้ว บุคคลดังกล่าวควรเป็นผู้ใกล้ชิด ที่รู้จักรู้ใจ ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน


เป็นคู่ครองกัน


โดยไม่สำคัญว่าพวกเขาจะมีเพศสภาพหรือรสนิยมแบบใด


ที่ผ่านมาพวกเราบุคลากรทางการแพทย์ เฝ้าดูผู้คนที่แลกเปลี่ยนคำมั่น กุมมือร่วมทางกันมาเกือบทั้งชีวิต กลับถูกจับกระชากจากกันในวาระสุดท้าย


ทั้งในฐานะแพทย์และในฐานะคนคนหนึ่งที่มีชีวิตจิตใจ เราไม่อยากเห็นอีกต่อไปแล้ว


พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ไม่เพียงช่วยให้คู่รักทุกเพศสามารถแต่งงานกันได้ แต่ยังช่วยคืนสิทธิ์ในการเลือกเส้นทางการรักษา คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรียกสิทธิ์พื้นฐานที่สุดในทางการแพทย์ที่บุคคลคนหนึ่งจะพึงมีกลับมา


ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกคุณยายยังอยู่ไหม แล้วคุณลุงที่เหลือท่านเดียวจะรออยู่หรือเปล่า แต่นับจากวันนี้ไป พวกเราไม่ต้องจับพวกท่านเหล่านั้นแยกจากกันอย่างโหดร้ายเช่นนั้นอีกแล้ว



ป.ล.คุณลุงท่านแรก ไม่มีญาติยินยอมมาลงนามให้มอร์ฟีน แต่คุณหมอเจ้าของไข้ ตัดสินใจให้มอร์ฟีน แม้จะกลัวผลทางกฎหมาย แต่ก็ได้บันทึกเหตุการณ์ทั้งหมดไว้ โดยมีแพทย์ท่านอื่นๆและพยาบาลในเวรร่วมกันลงนามเป็นพยาน


ดู 29 ครั้ง

Comments


bottom of page