top of page
Apichaya Sukprasert

เรื่องเล่าจากใต้แมสก์, ชุดกาวน์, และถุงมือยาง



สิบกว่าปีก่อน นักศึกษาแพทย์ที่จบในยุคนั้น จะมีความเชื่อที่น่ากังวลใจเรื่องหนึ่ง

"การใส่หน้ากาก ถุงมือ เครื่องป้องกันติดเชื้อ ในการทำงานทั่วไป เป็นเรื่องน่าอายน่าขำขัน"


ไม่แน่ใจว่า ความเชื่อนี้ถูกหล่อหลอมมาได้อย่างไร อาจเพราะเมื่อจบออกมาใหม่ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ติดหนี้ตัวแดงกันทั้งประเทศ การใช้จ่ายติดขัดกระเบียดกระเสียร 


...หน้ากากไม่จำเป็นไม่ต้องใช้

...ถุงมือใช้แล้วทิ้งกลับต้องเก็บไปอบใหม่


สภาพการทำงานโดยทั่วไป หล่อหลอมให้คนหนุ่มสาวรุ่นนั้น มองว่าการช่วยเหลือโรงพยาบาล สำคัญยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง


ความเชื่อนี้ไม่เพียงวนเวียนในหมู่แพทย์เท่านั้น ยังกลายเป็นความคุ้นชินสำหรับพยาบาล หลายคนเข้าห้องความดันลบทำหัตถการ คิดเพียงรีบเข้ารีบกลับไม่ต้องใส่ N-95 ยิ่งไม่ต้องพูดถึงหอผู้ป่วยทั่วไป เจาะเลือดแจกยา ไม่มีการใส่หน้ากากแม้แต่ชิ้นเดียว 


ของเหล่านี้เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย ประหยัดได้ก็ประหยัด เราไม่มีเงินต้องช่วยกัน อย่าให้ความกลัวมาขัดขวางการทำงาน


มองย้อนไปแล้ว ความเชื่อเหล่านี้มีปัญหา 


แม้ด้านหนึ่ง เรามองเห็นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร อยากผลักดันองค์กรให้เดินหน้า แต่อีกด้านก็ส่งสัญญาณว่า เรายังคงติดอยู่กับการทำงานแบบถวายชีวิต 


....โดยมองไม่เห็นแม้สิทธิพื้นฐานของบุคลากร 


การมาถึงของโควิด ทำให้ปัญหาดังกล่าวกลัดหนองปะทุออกมา


คืนหนึ่งในช่วงต้นของการระบาด ผู้ป่วยชายวัยกลางคน ไข้ ไอ หอบ การหายใจล้มเหลว จำต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ผลออกในไม่กี่วันถัดไป เขาเป็นโควิด-19 ชนิดรุนแรงลงปอด จำต้องกักตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัย


ระยะเวลาในการกัก มากน้อยขึ้นกับระดับความน่าจะเป็นที่จะติดโรคมาได้ กิจกรรมที่ทำ, ระยะเวลาที่เกี่ยวข้อง, ไปจนถึงเครื่องป้องกันที่ใช้ ล้วนสำคัญต่อการประเมิน


ผลการสอบสวนน่าสะพรึงกลัวมาก


มีเพียงแพทย์ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ ที่ใส่ N-95 แต่ไม่ใส่เฟซชีลด์ไปจนเครื่องป้องกันอื่นใด ขณะเจ้าหน้าที่อื่นที่เหลือ ล้วนใส่เพียงหน้ากากผ้า หรือแม้แต่ไม่ใส่อะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว


พวกเขาเข้าใจว่า ตนไม่ใช่คนทำหัตถการ ไม่ใช่แพทย์ ย่อมไม่มีสิทธิ์ใส่เครื่องป้องกันราคาสูงหรูหรา

ย้อนถามแพทย์ หากไม่ใช่ได้รับข่าวโควิด-19อาจเข้ามา ก็คงไม่คิดหยิบ N-95 ขึ้นมาใส่อย่างแน่นอน


ผลการสอบสวนเทกระจาดเจ้าหน้าที่ขึ้นเวรทุกคน 


คืนนั้น หลังรายชื่อผู้เข้ากักตัวออกมา โรงพยาบาลก็พบว่า พวกเขาไม่อาจหาใครมาทนแทนเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ได้เลย


เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์จริง ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของการระบาด และน่าจะเป็นเคสแรกๆของประเทศไทยค่ะ 


การกักตัวในครั้งนั้นนำไปสู่วิกฤติอัตรากำลังทันทีทันใด ทั้งด้วยจำนวนคนที่มาก และบางตำแหน่งมีเกณฑ์เฉพาะ ไม่อาจหาคนแทนได้ แต่จะไม่กักก็ไม่ได้ นำไปสู่ปัญหาบริหารจัดการขนานใหญ่ ที่กว่าจะผ่านไปได้ เลือดตา(ทั้งผู้บริหารและหน้างาน)แทบกระเด็น เรียกว่าโรงพยาบาลแทบดำเนินงานต่อไม่ได้ด้วยซ้ำ 


ขณะนั้นมีคำถามเชิงตำหนิส่งมาว่า "เหตุใดไม่ป้องกันตนเอง จนทำให้องค์กรเกิดปัญหา" แน่นอนเมื่อคำถามนี้ส่งออกมา ย่อมเกิดคำถามสะท้อนกลับอย่างรุนแรง


ไหนบอก N-95 สิ้นเปลืองห้ามใช้?

ไหนบอกโรงพยาบาลไม่ไหว พวกเราต้องช่วยกัน?

ไหนเคยว่าแค่นี้ทำไมต้องใส่เครื่องป้องกัน?


สุดท้ายนำไปสู่คำถามสำคัญ "ที่ผ่านมาเราอยู่กันอย่างไร"


การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา แม้จะกักตัวหรือป้องกันตัวดีเพียงใด ในท้ายที่สุดแล้ว ก็พบเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายติดโควิด-19อยู่ดี


ในจำนวนนั้นมีเจ้าหน้าที่ที่มิใช่สายวิชาชีพ แต่ทำงานบางอย่างซึ่งหลายฝ่ายมองข้ามรวมอยู่ด้วย

ดังเช่น...ประชาสัมพันธ์ พนักงานทำความสะอาด พนักงานเก็บขยะ ฯลฯ


หลังส่งผู้ป่วยขึ้นหอผู้ป่วย หลังแพทย์พยาบาลถอดเครื่องป้องกัน ยังมีกลุ่มพนักงาน ที่หลายคนเป็นเพียงลูกจ้างรายวันไร้สวัสดิการ เข้ามาเก็บกวาดทำความสะอาด ทิ้งขยะติดเชื้อ หรือถึงขั้นต้องล้างฟิลเตอร์ห้องความดันลบด้วยซ้ำ


เดิมทีคนเหล่านั้น ไม่เพียงไม่ได้ใช้เครื่องป้องกัน บางส่วนถึงขั้นไม่มีเครื่องป้องกันให้ขอใช้


"เขามีให้แมสก์มา แต่ไม่พอจ้ะ เพราะมีเก็บขยะหลายจุด และทำทุกวัน"

"มีแจกถุงมือมาแค่คู่เดียว ไม่พอครับ ผมเอาเงินค่าจ้างไปซื้อมาเพิ่มไว้"


ดูเหมือนว่า ค่านิยมเก่าที่ไม่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของพนักงาน จะชอนไชไปทุกระดับ ฝังรากลึกมากกว่าที่คิดไว้


การมาถึงของโควิด-19 นำไปสู่การสอบสวนโรค มาตรการกักกัน ทั้งยังนำไปสู่ปัญหาสำคัญที่เคยถูกซุกใต้พรมตลอดมา


อันที่จริงแล้ว นี่ถือเป็นเหตุการณ์ที่กระตุ้นเตือนว่า "บุคลากรทุกระดับ" มีความสำคัญมากเพียงใด ไม่ว่าเงินจะติดบวกหรือติดลบ องค์กรเช่นโรงพยาบาลก็ไม่อาจเดินหน้าต่อไปได้ หากไม่มีบุคลากรซึ่งถือเป็นหัวใจของระบบการทำงานโรงพยาบาล


เหตุการณ์ที่เล่าไปข้างต้น นำไปสู่การจัดทำ "แนวปฏิบัติเครื่องป้องกัน" ขึ้นในหลายโรงพยาบาล โดยเป็นแนวทางสำหรับเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทุกรูปแบบการทำงาน ถือเป็นการยกระดับสวัสดิภาพอย่างที่ไม่เคยมีมา


หลังการระบาดของโควิด-19 การใส่เครื่องป้องกันอย่างถูกต้อง เปลี่ยนจากเรื่องฟุ่มเฟือย กลายเป็นความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อองค์กร ท่ีเจ้าหน้าที่ทุกคนจะละเมิดไม่ได้ น่ายินดีที่ผู้บริหารไม่น้อย เปลี่ยนความคิดที่มีต่อค่าใช้จ่ายเรื่องเครื่องป้องกันไปโดยสิ้นเชิง 






ดู 7 ครั้ง
bottom of page