top of page
  • Apichaya Sukprasert

ไอเดียจากแอพส่งอาหาร : งานโรงพยาบาลกับการจับคู่แบบไรเดอร์

เพื่อน ๆ รู้จัก Rapid Response Team (RRT) กันไหมคะ 


ยุคปัจจุบัน บางโรงพยาบาลจัดให้มี RRT คอยกู้ชีพผู้ป่วยตามจุดต่างๆของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นนอกหอผู้ป่วย ในหอผู้ป่วย หรือแผนกแยกย่อยต่างๆ ในต่างประเทศถือเป็นมาตรฐาน ส่วนในไทยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ 


แม้จะไม่แพร่หลาย แต่อย่างๆน้อย คงเคยได้ยินชื่อหน่วยกู้ชีพเคลื่อนที่เร็วอย่างทีม CPR หรือมือใส่ท่อระดับเทวดาอย่างทีมดมยา difficut airway กันอยู่บ้าง เหล่านั้นถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ RRT นั่นเองค่ะ 


มาถึงจุดนี้ ขอชวนเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักหน่วยกู้ชีพแต่ละแบบกันค่ะ 


— 


ข้อดีของ RRT นอกจากผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างฉับไวไว้ใจได้แล้ว ในเชิงการบริหาร ยังมีประโยชน์ต่อการจัดอัตรากำลังด้วย


ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่บางส่วนได้รับการพัฒนาศักยภาพจนสามารถเข้าร่วม RRT และกู้ชีพผู้ป่วยเมื่อได้รับการร้องขอ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ส่วนอื่น ได้รับการต่อยอดทักษะด้านอื่น ที่อาจจำเป็นต่อโรงพยาบาลเช่นกัน เรียกได้ว่าสามารถวางแผนพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม กระจายทั่วถึง เหมาะคนเหมาะงาน


ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุร้องขอความช่วยเหลือจาก RRT เมื่อ RRT เข้าจุดปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่เดิม ณ จุดนั้น ย่อมสามารถกลับไปทำงานประจำที่มีความจำเป็น มีผู้ป่วยรออยู่เช่นกัน จนสามารถดำเนินระบบงานต่อไปได้ เรียกว่าแบ่งงานกันทำ เพิ่มประสิทธิผลของระบบงาน


นอกโรงพยาบาล เรามีทีมกู้ชีพอยู่เช่นกัน


แต่ความจริงแล้ว รถพยาบาลแต่ละคันไม่เหมือนกัน แบ่งออกเป็นระดับต่างๆตามศักยภาพ รถฉุกเฉินของโรงพยาบาล ที่พยาบาลหรือนักฉุกเฉินการแพทย์อยู่ประจำ ถือเป็นทีม Advance ขณะที่รถขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือบางที่ก็คือรถของมูลนิธิต่างๆ มักเป็นระดับ first responder หรือ basic


เหตุส่วนมากจะใช้ first responder หรือ basic จะมีเฉพาะบางเหตุที่เรียก advance ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ามากออกปฏิบัติการ


ในแง่นี้ advance จึงมีบทบาทในเชิงระบบคล้าย RRT นั่นเองค่ะ


ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกันค่ะ


ที่ประเทศสวีเดน จะมีรถฉุกเฉินหลายแบบ สำหรับเป้าหมายที่แตกต่างกัน ในเขตหนึ่งๆเวรหนึ่งๆ อาจมีรถฉุกเฉินทั่วไปนับสิบคัน แต่มักมีรถที่มีแพทย์อยู่เพียงคันเดียว โดยระบบของสวีเดนจะให้รถแพทย์แล่นไปตามจุดเกิดเหตุต่างๆ รีบจัดการ และเมื่อเสร็จภารกิจก็รีบออกตัวไปยังภารกิจถัดไป ส่วนหน้าที่ก่อนและหลังแพทย์มานั้นยังคงเป็นของรถฉุกเฉินทั่วไป รับหน้าที่ดูแลต่อเนื่องถึงโรงพยาบาล


เล่ามาถึงจุดนี้ ก็ต้องขอเล่าถึงตอนที่ผู้เขียนรู้จักระบบนี้ ก็เกิดความสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่ารถฉุกเฉินคันไหนจะไปเหตุไหน แล้วใครจะได้รถแพทย์คันไหนไปกันแน่


สำหรับเมืองไทยเรา ใช้วิธีแบ่งเขตสัมปะทาน แยกนี้ถึงแยกนี้เป็นของมูลนิธิไหน รถadvanceโรงพยาบาลใด ซึ่งมักอยู่ใกล้เคียงแถวนั้น


อย่างไรก็ตาม มักเกิดกรณีรถในเขตติดงาน หรืออยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุมาก กระทั่งรถที่รับสัมปะทานของอีกเขตนั้นดันอยู่ใกล้กว่า สำหรับคนจ่ายงานแล้ว ก็จำต้องจ่ายตามข้อตกลงเขตสัมปะทานเดิม แต่สำหรับประชาชนแล้ว ก็คงอยากได้รถใกล้กว่ามากกว่า นำไปสู่ความไม่เข้าใจและปัญหาขัดแย้งเรื้อรัง 


ปัญหาดังกล่าวนี้ไม่เกิดขึ้นในสวีเดนและอีกหลายๆประเทศ (เท่าที่ทราบ) เนื่องจากเขาใช้ระบบ real-time matching กันค่ะ


ระบบที่ว่านี้ เล่าแบบเข้าใจง่าย ก็เหมือนเราใช้แอพส่งอาหารทั้งหลาย กดหาไรเดอร์ส่งอาหาร ระบบก็จะทำการจับคู่ไรเดอร์ที่ใกล้ร้านที่สุดให้ หลายประเทศใช้ระบบนี้กับปฏิบัติการฉุกเฉินด้วยค่ะ


พวกเขาไม่แบ่งเขตสัมปะทานรถฉุกเฉิน แต่ใช้วิธีตรวจจับ GPS ของรถ แล้วจับคู่กับจุดเกิดเหตุที่มีผู้ต้องการความช่วยเหลือ


ระบบดังกล่าวนี้ ถ้ามองแบบไทยๆหน้างาน ต้องบอกว่าก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แต่หากมองในแง่ผู้บริหาร ย่อมมองเห็นโอกาสเข้าถึงผู้ป่วยที่รวดเร็วขึ้น คุ้มทุนขึ้นนั่นเอง



ย้อนกลับมาในโรงพยาบาล


เร็วๆนี้ผู้เขียนได้ฟังงานพัฒนาหลังบ้านระบบโรงพยาบาลที่น่าสนใจมาค่ะ


เริ่มจากทีมเวรเปลไม่อยากเดินส่งคนไข้คนหนึ่งเสร็จแล้วกลับมาโดยไม่ได้ทำงาน มองว่าอาจมีงานที่อยู่ใกล้กับจุดส่งคนไข้คนแรกให้รับทำต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ทีมเวรเปลกับทีมขยะติดเชื้อก็มีอีกความสนใจ พวกเขาไม่อยากขนส่งขยะติดเชื้อคร่อมเส้นทางนำส่งคนไข้ ด้วยเหตุผลด้าน Infectious Control 


พวกเขาจึงคิดวิธีการสื่อสารในกลุ่มงานขึ้น ร่วมกับทำแผนที่เส้นทางประจำที่แต่ละฝ่ายใช้งาน แล้วจัดให้มีศูนย์บัญชาการ เพื่อหาเวรเปลที่ใกล้ที่สุด พร้อมกับหลบขยะติดเชื้อไปในตัว


ฟังผ่านๆดูเป็นโครงการเล็กๆน่ารัก แต่พอมองเข้าไปนั้น มันคือพื้นฐานเดียวกันกับ real-time mathing เลยค่ะ นั่นแปลว่า แม้จะในหน่วยเล็กๆในโรงพยาบาล ก็ยังอาจประยุกต์เทคโนโลยีบางอย่าง มาพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลขึ้นได้


ย้อนกลับมาที่ RRT 


อดคิดไม่ได้ว่า หากเรานำ real-time matching มาประยุกต์ใช้ โดยกำหนดให้ใครก็ตามที่มีศักยภาพ(ผ่านเกณฑ์เข้าทีม RRT) หากขึ้นปฏิบัติงานแล้วอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมาก สามารถถูกเรียกให้เข้าทีมได้ ปิดจุดอ่อน RRT ที่หลายคนวิ่งมาจากระยะไกล ให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที


ดูเหมือนว่า แม้แต่งานประจำเล็กๆ ก็ยังอาจมีจุดที่เทคโนโลยีจะเข้ามายกระดับการทำงานของเราไปอีกขั้น


ดู 45 ครั้ง

Comments


bottom of page