top of page

Telemedicine : จากฐานรากสู่ยอดปิระมิด

  • Apichaya Sukprasert
  • 20 ธ.ค. 2567
  • ยาว 1 นาที

ยุคนี้สมัยนี้ เทคโนโลยีเข้าไปเขย่าทุกวงการทุกหย่อมหญ้า วงการแพทย์ก็เช่นกันค่ะ หนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด และถูกนำมาใช้มากที่สุด โดยเฉพาะในยุคโควิดที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น Telemedicine ซึ่งเราจะมาย้อนรอยกันในบทความนี้ค่ะ


Telemedicine คืออะไร

ย้อนอดีตไปสิบกว่าปีก่อน หากยังจำกันได้ ขณะนั้นการติดต่อทางไกล ยังคงสื่อสารด้วยเสียงผ่านระบบโทรศัพท์เป็นหลัก 


สำหรับในเมือง การสื่อสารถือว่าไม่ยากนัก แต่ยังมีข้อจำกัด ด้วยไม่อาจส่งภาพให้กันอย่างง่ายดาย การส่งปรึกษาทางการแพทย์ที่จำต้องเห็นภาพ จึงใช้การอธิบาย(ซึ่งผิดบ้างถูกบ้าง)เป็นหลัก

สำหรับนอกเมืองในเขตป่ายิ่งแย่กว่านั้น ด้วยเมื่อไม่มีสายโทรศัพท์ หลายครั้งไม่สามารถติดต่อกันได้เลย


กระทั่งการมาถึงของระบบโครงข่ายอินเตอร์เนทมือถือ การสื่อสารก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที


ขณะนั้นผู้เขียนเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่โรงพยาบาลชายแดนแห่งหนึ่ง ได้รับแจ้งจากพยาบาลท่านหนึ่งว่า เพื่อนพยาบาลซึ่งประจำยังรพ.สต.ในเขตป่า ขอความช่วยเหลือมาทางช่องข้อความของเฟซบุค


เนื้อหามีว่า หญิงแรกคลอดตกเลือดจนสิ้นสติ สามีแบกขึ้นหลังเดินเท้าออกจากป่า มาขอความช่วยเหลือกับตำรวจตระเวนชายแดน โชคดีที่บริเวณนั้นมีโรงเรียน ซึ่งเพิ่งจะมีสัญญาณอินเตอร์เนท ทางตำรวจตระเวนชายแดนจึงส่งภาพและข้อความมาขอความช่วยเหลือ ก่อนที่ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งต่อๆกันมาจนถึงมือเราซึ่งเป็นแพทย์เวร


พวกเราจึงประชุมกันทันที


แถบนั้นเป็นป่า แต่มีหมู่บ้านคนเป็นระยะ ทำให้มีสุขศาลาบ้าง มีโรงเรียนบ้าง ซึ่งเป็นจุดที่ได้รับการสนับสนุนให้มีสัญญาณอินเตอร์เนทประปราย โดยมีรพ.สต.ที่ส่งข้อมูลมาให้ เป็นจุดที่มีสัญญาณอินเตอร์เนทแรงที่สุด 


เราติดต่อไปยังสุขศาลาที่ใกล้ผู้ป่วยที่สุดทันที พร้อมวางแผนหาทางลำเลียงหญิงตกเลือดออกมาอย่างปลอดภัยให้ได้ โดยติดต่อไปยังสุขศาลาจุดต่างๆ ให้เตรียมพร้อมเอาไว้ เมื่อถึงจุดแรกให้เปิดเส้น วัดสัญญาณชีพ แล้วส่งข้อมูลมา โดยเราซึ่งเป็นแพทย์เวรจะสั่งการรักษาให้ จากนั้นให้ลำเลียงหญิงตกเลือดไปยังจุดถัดไป อัพเดทอาการส่งมา เราจะสั่งการรักษากลับไปในทุกจุด และทางโรงพยาบาลก็จะส่งรถ ไล่ย้อนขึ้นไปตามเส้นทางที่ได้ตกลงกัน 


อันที่จริง หญิงตกเลือดมี BP 60/40 mmHg ที่จุดแรก จากจุดนั้นใช้เวลากว่า 12 ชั่วโมง จึงจะถึงโรงพยาบาล โดยรวมสถานการณ์นับว่าสิ้นหวัง แต่เพราะได้รับการดูแลระหว่างทาง ปรับการรักษา ต่อสู้ร่วมกันเท่าที่จะทำได้ เมื่อถึงโรงพยาบาลในตอนดึก แม้เธอจะยังไม่รู้สึกตัว แต่ยังมีลมหายใจ เราทำการกู้ชีพต่อเนื่องจนถึงเช้าวันใหม่ หญิงตกเลือดจึงเริ่มฟื้นคืนสติกลับมา


เรื่องนี้จบด้วยดีค่ะ พวกเราช่วยชีวิตเธอไว้ได้ ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าในที่สุด ลูกของเธอเป็นลูกแฝด ได้รับการช่วยเหลือในภายหลัง

แต่หากเรื่องเกิดเร็วกว่านี้สัก 1-2 ปี ในยุคที่การสื่อสารทำได้เพียงผ่านวิทยุเท่านั้น การดูแลระหว่างทางทำได้ยากจนถึงอาจทำไม่ได้ เราคงเสียเธอไปในที่สุด


เหตุการณ์นั้นเป็นครั้งแรกของผู้เขียน และอาจเป็นครั้งแรกๆในไทย ที่มีการดูแลผู้ป่วยวิกฤติจากทางไกล ในลักษณะที่เข้ากันได้กับนิยามของ Telemedicine 




ประโยชน์ใช้สอยของ Telemedicine


เวลาผ่านไปหลายปี Telemedicine ถูกพูดถึงเป็นพักๆ แต่ยังไม่มีที่ใช้ชนิดเป็นวงกว้างนัก กระทั่งการมาถึงของโรคโควิด-19 ขณะนั้นเรามีผู้ป่วยจำนวนมหาศาล แต่กลับมีข้อจำกัดอย่างร้ายกาจ ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ และเวลาที่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นจะอยู่ในชุดป้องกันได้ 


หลายพื้นที่ตัดสินใจใช้ระบบ Telemedicine ตรวจผู้ป่วยทางไกล คัดแยกก่อนว่าผู้ป่วยคนไหน ความหนักเบาระดับใด ก่อนจะส่งหาปลายทางที่เหมาะสม


ผู้ป่วยหนักถูกส่งเข้าโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งการตรวจชนิดเห็นหน้าแตะตัวกัน และเมื่อดีแล้วก็อาจผสมการตรวจติดตามชนิดทางไกล

ผู้ป่วยเบากักตัวอยู่ที่บ้าน ทีมที่ดูแลใช้การตรวจทางไกล ดูแนวโน้มอาการช่วงแรกว่าเป็นเช่นไร โดยอาจไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาลเลย


จะเห็นได้ว่า การแพทย์ทางไกล Telemedicine ถูกใช้ในหลายระดับ ตั้งแต่การคัดแยกผู้ป่วย, การตรวจผู้ป่วยประจำวัน, และการติดตามอาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งดูแลผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด ในเวลาที่น้อยที่สุด โดยเกิดความเสี่ยงจะเสียเจ้าหน้าที่คนนั้นจากการติดโรคให้น้อยที่สุดเช่นกัน


สังเกตได้ว่า การตรวจทางไกลในยุคโควิด-19 มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นไปเพราะข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรและการควบคุมโรคอีกด้วย




อนาคตของ Telemedicine และการแพทย์ไทย


หลังยุคโควิด -19 เป็นต้นมา สาธารณสุขไทยโอบรับ Telemedicine มากขึ้น ในระดับบริหาร มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลโดยใช้ระบบบริการการแพทย์ทางไกล พ.ศ.2564 ถือเป็นการรับรองการแพทย์ทางไกลให้มีอยู่ในระบบสาธารณสุข 


ระดับปฏิบัติการ มีการนำ Telemedicine มาใช้ ทั้งในบริบทฉุกเฉิน เช่น EMS แพทย์อำนวยการฯอาจสั่งการรักษาผ่านข้อมูลที่หน้างานส่งเข้ามา, Interhospital Care แพทย์ปลายทาง monitor EKG ผู้ป่วย STEMI ก่อนเตรียมการรักษาให้พร้อม และในบริบทไม่ฉุกเฉิน เช่น OPD มีตัวเลือกตรวจทางไกลให้ผู้ป่วยบางส่วนที่มีความเหมาะสม สอดรับกับนโยบายลดแออัดในโรงพยาบาล


สังเกตได้ว่า Telemedicine ผ่านเข้ามาทางเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ แก้ pain point หลายอย่าง ถูกใช้จริงจนแพร่หลาย ก่อนจะเคลื่อนขึ้นสู่ระดับบน เข้าหาผู้บริหาร ได้รับการยอมรับจนออกมาเป็นนโยบาย 


เราเห็นจากอดีตหลายครั้ง นโยบายที่เคลื่อนจากบนลงล่างไม่ยั่งยืนนัก เมื่อไม่อาจแก้ปัญหาที่มีอยู่จริง แค่อยากได้หน้า นายแพทย์ใหญ่ผ่านมาก็ผ่านไป หลายนโยบายจึงลงทุนแล้วไม่ได้ใช้ แต่สำหรับ Telemedicine แตกต่างออกไป 


คือหนึ่งในไม่กี่นโยบาย ที่ถูกส่งจากฐานรากขึ้นสู่ยอดปิระมิดอย่างแท้จริง


เชื่อว่าในอนาคต Telemedicine จะอยู่กับระบบสาธารณสุขไทย และค่อยๆพัฒนาตัวตนจนฝังรากลึกลงไป กลายเป็นความปกติใหม่ในที่สุด



 
 
 

Comentarios


bottom of page